ซีพีเอฟ ส่งเอกสารแจงคณะอนุกรรมาธิการ ปมนำเข้า ปลาหมอคางดำ ยันปลาตายหมด-ฝังกลบทำลายตั้งแต่ ปี 54 แล้ว

แชร์ - ส่งบทความให้เพื่อน

ซีพีเอฟ ส่งเอกสารแจงคณะอนุกรรมาธิการ ปมนำเข้า ปลาหมอคางดำ ยันปลาตายหมด-ฝังกลบทำลายตั้งแต่ ปี 54 แล้ว

จากกรณีการแพร่ระบาดของ ปลาหมอคางดำ ปลาสายพันธุ์เอเลียนสปีชีส์ที่ไม่ได้มีถิ่นกำเนิดในไทย และกำลังสร้างผลกระทบให้กับระบบนิเวศ รวมถึงเกษตรกรที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ก่อนที่ภายหลังจะมีการสืบทราบว่า ปลาชนิดดังกล่าวนี้ ได้ถูกนำเข้ามาโดยบริษัท ซีพีเอฟ เพื่อทำการวิจัยนั้น

ล่าสุด วันที่ 16 ก.ค. 67 บริษัท ซีพีเอฟ ได้ส่งเอกสารยืนยันต่อคณะอนุกรรมาธิการ (กมธ.) ว่าได้นำเข้าและทำลายปลาหมอคางดำอย่างรอบคอบถูกต้อง ตั้งแต่มกราคม 54 พร้อมหนุนภาครัฐกำจัดเต็มที่

ศูนย์วิจัยและปรับปรุงพันธุ์ปลาภายใต้ซีพีเอฟ ยืนยันการดำเนินการตั้งแต่นำเข้าปลาหมอคางดำในเดือนธันวาคม 2553 จนถึงการทำลายซากปลาทั้งหมดในเดือนมกราคม 2554 เป็นไปตามขั้นตอนที่กำหนด มั่นใจรอบคอบทุกขั้นตอน พร้อมสนับสนุนการทำงานภาครัฐในการแก้ปัญหาการแพร่ระบาด ณ ปัจจุบัน

นายเปรมศักดิ์ วนัชสุนทร ผู้บริหารสูงสุดด้านการวิจัยและการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ กล่าวว่า ในส่วนงานสัตว์น้ำ ไม่ได้นิ่งนอนใจในเรื่องนี้ โดยได้มีการทบทวนย้อนหลังสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อ 14 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่การนำเข้าในเดือนธันวาคม 2553 ถึงวันทำลายในเดือนมกราคม 2554 มั่นใจได้ว่าบริษัทได้ดำเนินการอย่างถูกต้องและด้วยความรอบคอบตามหนังสือชี้แจงที่ได้นำส่งไปยัง คณะกรรมาธิการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กมธ.)

นายเปรมศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า “บริษัทยินดีให้ความร่วมมือและสนับสนุนหน่วยงานรัฐตามแนวทางของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 5 ด้าน อันประกอบด้วย 1. ทำงานร่วมกับกรมประมงในการสนับสนุนให้มีการรับซื้อปลาหมอคางดำไปผลิตเป็นปลาป่น 2. ทำงานร่วมกับภาครัฐในการสนับสนุนการปล่อยปลาผู้ล่าลงสู่แหล่งน้ำ 3. สนับสนุนภาครัฐในการจัดกิจกรรมจับปลา 4.สนับสนุนการพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารจากปลาหมอคางดำร่วมกับสถาบันการศึกษา และ 5. สนับสนุนการวิจัยกับผู้เชี่ยวชาญในการหาแนวทางควบคุมประชากรปลาหมอคางดำ”

หนังสือชี้แจงไปยัง กมธ. มีรายละเอียด ดังนี้

ในปี 2553 บริษัทได้นำเข้าปลาจำนวน 2,000 ตัว ซึ่งพบว่ามีปลาสุขภาพไม่แข็งแรงและมีการตายจำนวนมากในระหว่างทาง ทำให้เหลือปลาที่ยังมีชีวิตแต่อยู่ในสภาพอ่อนแอเพียง 600 ตัว ซึ่งได้รับการตรวจสอบ ณ ด่านกักกันโดยกรมประมง ทั้งนี้เนื่องจากปลามีสุขภาพไม่แข็งแรง จึงมีการตายต่อเนื่องจนเหลือเพียง 50 ตัว บริษัทจึงตัดสินใจหยุดการวิจัยในเรื่องนี้ โดยมีการทำลายซากปลาตามมาตรฐานและแจ้งต่อกรมประมง พร้อมส่งตัวอย่างซากปลา ซึ่งดองในฟอร์มาลีนทั้งหมดไปยังกรมประมงในปี 2554

นอกจากนี้ ในปี 2560 ที่เริ่มพบการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ คณะผู้ตรวจเยี่ยมจากกรมประมง เข้าตรวจเยี่ยมฟาร์มของบริษัท ณ จังหวัดสมุทรสงคราม เพื่อขอข้อมูลจำนวนลูกปลาหมอคางดำที่นำเข้าเมื่อปี 2553 และการบริหารจัดการ ซึ่งนักวิจัยของบริษัทได้รายงานข้อเท็จจริงทั้งหมด ต่อมาคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้ลงพื้นที่เยี่ยมฟาร์มอีกครั้ง ซึ่งนักวิจัยของบริษัทได้ชี้แจงถึงวิธีการทำลายปลาทั้งหมด โดยใช้สารคลอรีนเข้มข้นและฝังกลบซากปลาโรยด้วยปูนขาว และยืนยันว่าไม่ใช่สาเหตุของการแพร่ระบาดดังกล่าว.


แชร์ - ส่งบทความให้เพื่อน
อ่าน :  นวัตกรรมบ่อเลี้ยงปลา เลี้ยงกุ้ง แท้งค์เก็บน้ำ รุ่นประหยัด ใช้งานได้ผล

เรื่องที่เกี่ยวข้อง