มอดยาสูบ (Cigarette beetle) แมลงศัตรูของเมล็ดพืช และผลิตผลเกษตร

แชร์ - ส่งบทความให้เพื่อน

มอดยาสูบ (Cigarette beetle) แมลงศัตรูของเมล็ดพืช และผลิตผลเกษตร

ชื่ออื่น ๆ : Tobacco beetle, Towbug
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Lasioderma serricorne (Fabricius) (Coleoptera : Anobiidae)

ความสำคัญและลักษณะการทำลาย
มอดยาสูบ เป็นแมลงศัตรูสำคัญที่สุดของผลิตผลเกษตรที่มีราคาแพง เช่น ใบยาสูบ บุหรี่ ซิการ์ และโกโก้ ลักษณะการทำลาย หนอนมอดยาสูบเข้าทำลายพืชโดยกัดกินใบยาสูบจนเป็นรูพรุน หรือเป็นทางคดเคี้ยวไปมาทำให้ใบยาสูบเสื่อมคุณภาพและราคาตก นอกจากนี้ ยังทำลายเมล็ดพืชและผลิตภัณฑ์จากพืช ได้อีกหลายชนิด ได้แก่ เมล็ดโกโก้ ธัญพืช เมล็ดพืชน้ำมัน ถั่วชนิดต่าง ๆ เครื่องเทศ ผลไม้แห้ง ผลิตภัณฑ์จากไม้ และผลิตภัณฑ์จากสัตว์

มอดยาสูบ (Cigarette beetle)

รูปร่างลักษณะ ชีวประวัติ และอุปนิสัย
ไข่ ระยะไข่ประมาณ 4-7 วัน หนอน มีสีขาว ลำตัวโค้งงอคล้ายรูปตัว C ระยะหนอนประมาณ 21-28 วัน ดักแด้ เข้าดักแด้ในปลอกที่สร้างขึ้น นาน 5-8 วัน หลังจากเข้าดักแด้แล้วอยู่นิ่ง ๆ อีก 3-10 วัน จึงเริ่มเคลื่อนไหวและกลายเป็นตัวเต็มวัยอีกครั้งหนึ่ง ตัวเต็มวัย มีขนาดเล็ก รูปไข่ หลังนูนเป็นมันวาวสีน้ำตาลแดง ขนาดประมาณ 2.0-2.5 มิลลิเมตร ลักษณะเด่นชัดของมอดยาสูบ คือ ส่วนหัวและอกปล้องแรกงองุ้มและโค้งลงด้านล่าง เมื่อถูกรบกวนมอดยาสูบจะซ่อนส่วนหัวอยู่ใต้ส่วนอก ปีกเรียบมีขนละเอียดสั้น ๆ สีน้ำตาลแดงขึ้นปกคลุม หนวดยาวประมาณครึ่งหนึ่งของลำตัวมี 11 ปล้อง ปล้องที่ 4-10 เป็นแบบฟันเลื่อย(serrate) ส่วนท้อง 3 ปล้องสุดท้ายมีขนาดเกือบเท่ากัน ตัวเต็มวัยเพศเมียวางไข่เดี่ยว ๆ บนใบยาสูบหรือพืชอาหารอื่น ๆ สูงสุดถึง 110 ฟอง ตัวเต็มวัยมีชีวิตอยู่ได้ไม่เกิน 25 วัน วงจรชีวิตจากระยะไข่ถึงระยะตัวเต็มวัยประมาณ 26 วัน อุณหภูมิและความชื้นสัมพัทธ์ที่เหมาะสำหรับการเจริญเติบโต คือ อุณหภูมิ 30 ºC และความชื้นสัมพัทธ์ 70% อุปนิสัย ตัวเต็มวัยบินได้ดีและว่องไว แต่มอดยาสูบไม่ชอบอากาศหนาว ที่อุณหภูมิ 4 ºC นาน 6 วัน ทำให้มอดยาสูบตาย

ภาพ – วงจรชีวิตมอดยาสูบ Lasioderma serricorne (Fabricius)

การแพร่กระจายและฤดูการระบาด
การแพร่กระจาย ทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศเขตร้อนและอบอุ่น ฤดูการระบาด ตลอดทั้งปี

พืชอาหาร
ใบยาสูบ บุหรี่ ซิการ์ เห็ดหลินจือแห้ง เห็ดหอมแห้ง มะม่วงหิมพานต์ ข้าวโพด ถั่วเหลือง ถั่วเขียว มันสำปะหลังแห้ง พริกแห้ง พริกป่น พริกไทย แป้งผงกะหรี่ ขิงแห้ง ผลไม้แห้ง กุ้งแห้ง และอาหารสำเร็จรูป เช่น บะหมี่ เป็นต้น

กำจัดด้วยศัตรูธรรมชาติ
แตนเบียน ได้แก่ Anisopteromalus calandrae (Howard), Lariophagus distinguendus (Förster) และ Theocolax elegans (Westwood)

ตัวห้ำ ได้แก่ Peregrinator biannulipes (Montrouzier & Signoret), Tenebroides mauritanicus (Linnaeus), Thaneroclerus buqueti (Lefebvre) และ Xylocoris flavipes (Reuter)

-*-*-*-*-

ที่มา : PDF แมลงที่พบในผลิตผลเกษตร และการป้องกันกำจัด โดย กองวิจัยและพัฒนาวิชาการหลักการเก็บเกี่ยว และแปรรูปผลิตผลเกษตร – กรมวิชาการเกษตร


แชร์ - ส่งบทความให้เพื่อน
อ่าน :  ธรรมนัส ดัน ‘ปุ๋ยคนละครึ่ง - ประกันภัยข้าวนาปี 67’ ช่วยเหลือชาวนา

เรื่องที่เกี่ยวข้อง