ด้วงงวงข้าวโพด (Maize weevil) แมลงศัตรูของเมล็ดพืช และผลิตผลเกษตร
ชื่ออื่น ๆ : Corn weevil, Greater grain weevil
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Sitophilus zeamais Motschulsky (Coleoptera : Curculionidae)
ความสำคัญและลักษณะการทำลาย
เป็นแมลงศัตรูสำคัญที่สุดของเมล็ดธัญพืชทุกชนิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้าวสาร ข้าวเปลือก ข้าวสาลี และธัญพืชเมล็ดเล็กอื่น ๆ ลักษณะการทำลาย ทั้งตัวเต็มวัยและตัวหนอนชอบทำลายข้าวสารมากกว่าข้าวเปลือก อาศัยกัดกินและเจริญเติบโตอยู่ภายในเมล็ดเดียว ทำให้เมล็ดที่ด้วงงวงข้าวโพดอาศัยอยู่จะมีลักษณะเป็นรู มักทำลายร่วมกับด้วงงวงข้าว ถ้าเข้าทำลายเมล็ดพันธุ์ที่เก็บไว้เป็นเวลา 6 เดือน จะได้รับความเสียหายสูงถึง 22 เปอร์เซ็นต์ ทำให้นำไปใช้ประโยชน์ต่อไปไม่ได้
รูปร่างลักษณะ ชีวประวัติ และอุปนิสัย
ไข่ รูปรีสีขาว จะฟักใน 3-6 วัน หนอน สีขาวลำตัวสั้นป้อม ไม่มีขา บริเวณส่วนหัวมีลักษณะแข็งสีน้ำตาลอ่อน อาศัยกัดกินอยู่ภายในเมล็ด ระยะหนอน 20-30 วัน ลอกคราบ 4 ครั้ง ดักแด้ มีสีขาวอาศัยกัดกินอยู่ภายในเมล็ด เมื่อใกล้ฟักเป็นตัวเต็มวัยจะมีสีเข้มขึ้น ระยะดักแด้ 3-7 วัน ตัวเต็มวัย มีสีน้ำตาลดำ ขนาดลำตัวประมาณ 3.0-3.8 มิลลิเมตร ส่วนหัวยื่นออกมาเป็นงวง (snout หรือ rostrum) ตัวเต็มวัยเพศเมียวางไข่ในเมล็ดพืชโดยการใช้ปากเจาะรูที่เมล็ดพืชแล้ววางไข่รูละ 1 ฟอง หลังจากนั้นปิดปากรูไว้ด้วยไข (waxy secretion) ตัวเต็มวัยเพศเมีย 1 ตัว วางไข่ประมาณ 150 ฟอง ระยะตัวเต็มวัยประมาณ 1-12 เดือน อุณหภูมิและความชื้นสัมพัทธ์ที่เหมาะสมสำหรับการเจริญเติบโต คือ อุณหภูมิ 25 ºC และความชื้นสัมพัทธ์ 70±5% วงจรชีวิตจากระยะไข่ถึงระยะตัวเต็มวัยประมาณ 30-45 วัน อุปนิสัย ตัวเต็มวัยสามารถบินออกไปทำลายเมล็ดพืชได้ตั้งแต่ยังอยู่ในไร่นา และบินได้ดีกว่าด้วงงวงข้าว
วงจรชีวิตด้วงงวงข้าวโพด Sitophilus zeamais Motschulsky
การแพร่กระจายและฤดูการระบาด
การแพร่กระจาย ทั่วโลก โดยเฉพาะในเขตอบอุ่นและเขตร้อนชื้น ฤดูการระบาด ในระยะก่อนการเก็บเกี่ยวข้าวใหม่ และแพร่ระบาดในโรงสีได้ตลอดทั้งปี
พืชอาหาร
เมล็ดธัญพืชทุกชนิด ได้แก่ ข้าวสาร ข้าวเปลือก ข้าวโพด ข้าวฟ่าง ข้าวสาลี ข้าวโอ๊ต ข้าวบาร์เลย์
เมล็ดพืชชนิดอื่น ๆ ได้แก่ เผือก ถั่วเหลือง มันสำปะหลัง ถั่วแขก ถั่วอะซูกิ และถั่วพุ่ม และผลิตภัณฑ์จากธัญพืชที่มีลักษณะแข็ง แต่ชอบทำลายเมล็ดข้าวโพดและข้าวสารมากที่สุด
กำจัดด้วยศัตรูธรรมชาติ
แตนเบียน ได้แก่ Cerocephala dinoderi Gahan, Anisopteromalus calandrae (Howard), Cerocephala oryzae Risbec, Lariophagus distinguendus (Förster), Pteromalus cerealellae (Ashmead) และ Theocolax elegans (Westwood)
ตัวห้ำ ได้แก่ ไรตัวห้ำ Acaropsellina docta (Berlese) และ ด้วง Tillus notatus Klug
เชื้อ ได้แก่ Beauveria bassiana (Balsamo)
-*-*-*-*-*-
ที่มา : PDF แมลงที่พบในผลิตผลเกษตร และการป้องกันกำจัด โดย กองวิจัยและพัฒนาวิชาการหลักการเก็บเกี่ยว และแปรรูปผลิตผลเกษตร – กรมวิชาการเกษตร
เรียบเรียงโดย : เกษตร นานา