รู้ตัวหรือยัง ว่าใครคือผู้อยู่เบื้องหลัง ในการส่งเสริมการขาย ‘ทุเรียน’ ให้กับเพื่อนบ้าน?

แชร์ - ส่งบทความให้เพื่อน

รู้ตัวหรือยัง ว่าใครคือผู้อยู่เบื้องหลัง ในการส่งเสริมการขาย ‘ทุเรียน’ ให้กับเพื่อนบ้าน?

ขอให้พวกเรามองมุมในทางกลับกันของการทำการตลาด แท้จริงแล้วหาใช่คนอื่น แต่หากเป็นพวกเราด้วยกันเองนี่แหละ คือผู้ที่ส่งเสริมการทำตลาดให้กับเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เวียดนาม ซึ่งเป็นประเทศที่ปลูกทุเรียนและส่งออกไปจีนมากเป็นอันดับสองรองจากไทย

เราต้องยอมรับความเป็นจริงว่าประเทศเวียดนามมีที่ตั้งหรือชัยภูมิที่ได้เปรียบกว่าประเทศไทย อีกทั้งยังมีต้นทุนในการผลิตที่ต่ำกว่า มีพรมแดนอยู่ติดกับจีนซึ่งเป็นตลาดหลักของไทยและเวียดนาม การขนส่งที่ใกล้กว่าจึงทำให้ต้นทุนการขนส่งถูกกว่า และใช้เวลาในการขนส่งถึงลูกค้าในตลาดจีนที่สั้นกว่า ความเสี่ยงในความเสียหายของสินค้าที่อาจเกิดขึ้นอันเนื่องมาจากระยะทางและระยะเวลาในการขนส่งน้อยกว่าประเทศไทยกว่าเท่าตัว

“นี่คือเหตุปัจจัยสำคัญที่ทำให้เวียดนามสามารถเก็บเกี่ยวทุเรียนได้เปอร์เซ็นต์ที่แก่มากกว่าเรา ซึ่งเป็นสิ่งที่เราต้องยอมรับว่า ทุเรียนแก่กินที่ไหนก็อร่อยกว่าทุเรียนไม่แก่”

ปัจจุบันนี้ประเทศไทยไม่ได้เป็นประเทศเดียวที่ปลูกทุเรียน หากแต่เรามีประเทศเพื่อนบ้านรอบบ้านเราที่เขาก็ปลูกทุเรียนเพื่อการส่งออกเช่นส่งกัน เกษตรกรไทยจำนวนมากยังไม่ยอมรับกับความเป็นจริงที่เกิดขึ้นว่า “โลกและระบบการตลาดมันเปลี่ยนไปแล้ว” ในปัจจุบันนี้ ประเทศไทยไม่ใช่ประเทศเดียวที่ส่งออกทุเรียน หากแต่เรามีประเทศเพื่อนบ้านรอบบ้านเราที่เขาก็ปลูกทุเรียนเพื่อการส่งออกเช่นส่งกัน “ไม่ใช่โลกที่มีเพียงแค่เธอกับฉันอีกต่อไปแล้ว” เกษตรกรต้องการราคาสูงเกินไปโดยลืมไปว่า ราคาของผลผลิตขึ้นอยู่กับปริมาณของผลผลิตที่ออกมา เมื่อมีผลผลิตออกมาก และมีจำนวนผู้ผลิตเพิ่มมากขึ้น ผู้บริโภคย่อมมีทางเลือกมากกว่า ดังนั้นอำนาจการต่อรองจึงอยู่ที่ผู้บริโภค ไม่ใช่ผู้ผลิต

เราต้องเข้าใจว่าผู้บริโภคชาวจีนส่วนใหญ่เขาไม่รู้จักว่าทุเรียนอร่อยเป็นอย่างไร ขอให้สุกกินได้เขาก็ดีใจแล้ว เขารู้แต่เพียงว่า “ทุเรียนคือทุเรียน” การที่เราเรียกราคาสูงเกินความเป็นจริง ทำให้นายทุนรายใหญ่ของจีนเริ่มหันเหไปลงลงทุนซื้อทุเรียนของเวียดนามเพิ่มขึ้น เพราะกำไรดีกว่า เสี่ยงน้อยกว่า ได้เงินใช้เร็วกว่า ลงทุนเท่ากันแต่ผลตอบแทนที่ได้สูงกว่า เร็วกว่า (ธรรมชาติของนักธุรกิจที่ไหนทำกำไรได้ดีเขาไปทำที่นั่น)

ที่สำคัญที่เวียดนามไม่มีเจ้าของสวนเอาพวกมาห้อมล้อมข่มขู่บังคับให้ซื้อแบบบ้านเรา(บางแห่ง) ซึ่งทำให้เขาเข็ดขยาดไม่เข้าไปซื้ออีกเลย และผมคาดว่าในปีนี้เราจะได้เห็นทุนจีนที่มาซื้อทุเรียนไทยจะแผ่วลง และราคาทุเรียนจากนี้ไปน่าจะอยู่ในระดับต่ำกว่ากิโลกรัมละ 100 บาท โดยเฉพาะอย่างยิ่งทุเรียนของภาคใต้ ที่จะตรงกับช่วงฤดูกาลเก็บเกี่ยวที่มีผลผลิตสูงที่สุดของเวียดนาม

จากปัญหาต่าง ๆ ดังที่กล่าวมา สรุปก็คือเรากำลังทำงานส่งเสริมการขายให้กับเพื่อนบ้าน เพราะมัวแต่มโนไปว่า ทุเรียนข้าพเจ้าสุดยอด ราคาต้องสูง ไม่ปรับเปลี่ยนวิธีคิด วิธีปฏิบัติของตัวเอง โทษแต่ผู้อื่นโดยไม่พิจารณาตัวเอง ไม่มีการพัฒนาเพื่อยกระดับสายพันธุ์ทุเรียนหมอนทองของไทย เหมือนข้าวหอมะลิ ในที่สุดเราก็จะค่อย ๆ ถูกแบ่งส่วนตลาดไปเรื่อย ๆ จนล้มไปด้วยกัน ซึ่งทุเรียนอาจจะเป็นตำนานไปอีกพืชหนึ่งก็ได้

“นี่คือมุมมองในทรรศนะของผมครับ”

เรื่องโดย : ศักดา ศรีนิเวศน์ 1/03/2566


แชร์ - ส่งบทความให้เพื่อน
อ่าน :  การดูแลใส่ปุ๋ย 'ขนุน' ของเกษตรกรเวียดนาม (มีคลิป)

เรื่องที่เกี่ยวข้อง