การดูแลใส่ปุ๋ย ‘ขนุน’ ของเกษตรกรเวียดนาม (มีคลิป)

แชร์ - ส่งบทความให้เพื่อน

การดูแลใส่ปุ๋ย ‘ขนุน’ ของเกษตรกรเวียดนาม (มีคลิป)

ขนุน ถือเป็นผลไม้ส่งออกของเวียดนามที่มีมูลค่าทางการตลาดสูงมากต่อปี ชาวเวียดนามปลูกขนุนส่งออกไปจีนเป็นจำนวนมากเป็นอันดับหนึ่งในอาเซียน

การดูแลใส่ปุ๋ยขนุน T8 ของเกษตรกรเวียดนาม ปุ๋ยที่ใช้เป็นการใช้ปุ๋ยหมักชีวภาพที่ทำจากมูลไก่ หมู เศษปลาหมักกับขี้เถ้าแกลบ จำนวน 5 กระสอบ(กระสอบละ 50 กก.) และปุ๋ยนำเข้าจากญี่ปุ่น (Pumax Japan) 1 กระสอบ (กระสอบละ 50 กก.) ผสมกับปุ๋ยเคมีคอมเปาวด์ สูตร 20-20-15 จำนวน 1 กระสอบ (กระสอบละ 25 กก.) ใส่เดือนละ 1 ครั้ง ๆ ละ 0.5-1 กก./ต้น ตามขนาดอายุ และลำต้น ตั้งแต่ต้นอายุ 1 เดือน จนถึง 11 เดือน เพื่อเตรียมให้ต้นสมบูรณ์พร้อมที่จะเลี้ยงลูก

จะเห็นว่าเกษตรกรเวียดนามจะเน้นการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพเป็นหลัก และกล้าที่จะลงทุนใช้ปุ๋ยอินทรีย์นำเข้าที่มีราคาแพงจากญี่ปุ่น เขาใส่ใจที่จะเน้นการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพบำรุงต้นและดินอย่างจริงจังมากกว่าที่จะเน้นการใช้ปุ๋ยเคมีแบบเกษตรกรไทย แต่จะเก็บผลไว้เพียง 1-2 ลูก/ต้น (อายุ 1-2 ปี)เท่านั้น ขณะที่เกษตรกรไทยให้ปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพน้อย ติดปุ๋ยเคมีสูตรสูง คิดว่าอย่างไรก็ขอให้สูงไว้ก่อน อย่าว่าแต่เกษตรกรเลย นักวิชาการเองก็ยังติดตัวเลขสูงๆ และชอบไว้ลูกเยอะ โดยไม่ได้คำนึงถึงในทางธุรกิจ “คุณภาพจะชนะจำนวน” ยังยึดติดกับการทำเกษตรแบบเดิมๆ คนทำชอบคิดตรงกันข้ามกับคนกิน คนกินอยากกินของอร่อย แต่คนทำอยากทำของขายให้เยอะ โดยไม่สนใจว่าของที่ทำจะมีรสชาติอร่อยตามที่คนกินชอบหรือไม่ ทำไมไม่คิดว่าตัวเองเป็นคนกินกันบ้าง จะได้รู้จักทำของอร่อยให้คนกิน แล้วเมื่อไรจะรวยแบบทนๆ กันเสียที


ในสมัยก่อน ผมไปดูงานที่เวียดนามเมื่อประมาณ 15 ปีที่แล้ว เข้าสวนมะม่วง เราบอกให้เขาเด็ดลูกทิ้งบ้าง เขาไม่ยอมเด็ดทิ้ง เพราะเสียดาย เราเด็ดทิ้งเขายังเอ็ดลั่นเลย แต่พอเขามีประสบการณ์ เขารู้แล้วว่าการไว้ลูกมากจะทำให้ผลไม้มีคุณภาพและรสชาติไม่ดี เขาจึงไม่เสียดายที่จะเด็ดหรือตัดลูกทิ้งบ้าง แต่บ้านเราเกษตรกรส่วนมากก็ยังชอบแต่ลูกดก สำหรับขนุนยังมีเกจิมานำเสนอวิธีทำให้ขนุนดก เลยไม่เข้าใจว่าทำไมจึงไม่สอนวิธีทำให้ขนุนมีคุณภาพดี หรือไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร? ลูกดกนั้นมันทำง่ายกว่าทำให้คุณภาพดีมากมาย แค่ใช้ฮอร์โมนบางตัวก็ทำได้แล้ว งงกับเกจิจริงๆ ทำไมไม่ทำการศึกษาทดลองดู ความแตกต่างของคุณภาพของผลผลิตต่อจำนวนลูกที่ไว้ เพื่อนำผลการศึกษามานำเสนอกัน

โดย : ศักดา ศรีนิเวศน์


แชร์ - ส่งบทความให้เพื่อน
อ่าน :  การควบคุมโรคใบจุด ของ "กล้วยหอมทอง" ด้วยงบ 5 บ.

เรื่องที่เกี่ยวข้อง