เล่าสู่กันฟัง กลไกของตลาด พ่อค้าคนกลาง และเกษตรกร

แชร์ - ส่งบทความให้เพื่อน

เล่าสู่กันฟัง กลไกของตลาด พ่อค้าคนกลาง และเกษตรกร

“ทำไมเราเป็นเกษตรถึงรวยช้า ทำไมพ่อค้าคนกลางถีงรวยเร็ว” เป็นคำถามที่ใครหลายๆ คนอยากรู้ และใครหลายๆ คน ก็รู้ดีอยู่แล้ว การจะเป็นพ่อค้าแม่ค้าขายผักเราต้องเข้าใจกลไกของตลาด ไม่งั้นเราจะเสียเปรียบ สิ่งที่เราควรได้เรากลับไม่ได้

ผมเคยไปขายผักสดที่ตลาดสี่มุมเมืองเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ผมเริ่มจาก เราไปตัดผักที่หน้าตลาดมาขาย หมายความว่า ที่หน้าตลาด(ข้างๆติดกัน) จะมีซอยสำหรับรถบรรทุกผักผ่านเข้า ประมาณ 100 เมตร

จะมีการเก็บเงินรถกระบะปิคอัพทั่วไป บรรทุกมากน้อยคันละ 100 บาท ส่วนรถลูกค้าที่จะมาจ่ายตลาด(รถเปล่าไม่มีพืชผัก) จะมีอีกเลนหนึ่งไม่ต้องเสียตังค์ รถบรรทุกพืชผักทุกคันต้องต่อแถวรอคิวเรียกเก็บเงิน

บางวันจ่ายตรงป้อมด่าน แต่บางวันก็มีเจ้าหน้าที่เดินมาเก็บถึงรถเพื่อความรวดเร็วเรื่องการจราจร หลังจากผ่านด่านจ่ายเงินแล้ว จะมีเจ้าหน้าที่จราจรโบกรถ เพื่อจอดรอคิวเข้าตลาดอย่างเป็นระเบียบ ข้างในตลาด จะถูกแบ่งไว้เป็นล็อกเป็นแถว เราไม่สามารถเลือกล็อกเลือกแถวเองได้ เมื่อรถผักขับวนไปถึงลานขาย

จะมีเจ้าหน้าโบกเรียกให้รถแต่ละคันเข้าจอดเอาผักลงแถวไหนล็อกไหน รถผักจะเข้าจอดถึงหน้าล็อกของตัวเอง การขนผักลงจากรถจะมีเจ้าหน้าที่ขนลงให้เสร็จสัพ คนตัดผักขายมีหน้าที่จ่ายเงินให้เจ้าของผักและจ่ายค่าลานขาย(ถ้าจำไม่ผิดก็ล็อกละ 50หรือ100 บาท)

แล้วก็นั่งขายผักเอากำไรต่อไป ส่วนเจ้าของผักหรือเจ้าของรถมีหน้าที่รับเงินแล้วขับรถกลับบ้าน ทางรถออกจะเป็นคนละทางกับทางรถเข้า แต่ไม่ต้องกังวนเพราะจะมีเจ้าหน้าที่คอยดูแลเป็นระยะๆ

ในช่วงที่รอเข้าด่านและรอคิวเข้าตลาดนี่แหละ ที่ผมและบรรดาพ่อค้าแม่ค้าเจ้าเล็กเจ้าใหญ่ เข้ามาติดต่อซื้อ อาจจะเหมาซื้อทั้งคัน หรือบางส่วน หรือบางรายการ ราคาแล้วแต่จะตกลงกัน(ตกลงกันเปล่า) จ่ายก่อนจ่ายหลังหรือมัดจำแล้วแต่จะตกลงกัน ที่แน่ๆ เมื่อของลงตลาดแล้วต้องจ่ายเงินกันให้เรียบร้อย ไม่มีการติดค้าง เว้นแต่รู้กันจริงๆ เนื่องจากพ่อค้าแม่ค้าในตลาดมาจากร้อยพ่อพันแม่ อย่าเชื่อใจกันมาก พืชผักที่ตลาดมีความต้องการจะมีสูง จะมีคนมาติดต่อซื้อเยอะ

ลานขายผักสดจะเป็นลานโล่งไม่มีหลังคา ถ้าฝนตกต้องหาร่มกางเอง ลานผักเริ่มขายช่วงเย็นถึงเช้า ถ้าผักขายไม่หมดจะเอากลับไปบ้านก็ได้ ส่วนมากจะถูกวางทิ้งไว้ให้รถตักตักไปทิ้ง

คนตัดผักขายจะได้กำไรหรือขาดทุนก็ไม่มีใครช่วยใครได้ ในช่วงเช้านี่แหละพวกรถเร่ขายผักจะมาหาซื้อผักในราคาถูกๆหรือเก็บผักที่ถูกทิ้งไปเร่ขายตามหมู่บ้านตามซอย แต่ไม่ได้หมายความว่ามันเป็นผักไม่ดีหรือผักคัดทิ้งนะครับ แต่มันเป็นผักที่ขายไม่หมด หมดคนซื้อ

กลับมาที่รถบรรทุกผักเข้า ถ้าคันไหนได้ผักที่ตลาดกำลังหมดหรือเหลือน้อยมา ก็ถือว่าโชคดี ที่ว่าโชคดีเพราะราคาในแต่ละวันแต่ละชั่วโมงอาจจะไม่เท่ากัน ไม่มีใครกำหนดหรือแทรกแซงราคา ทุกอย่างเป็นไปตามกลไกตลาด เหตุที่ราคามันมีความผันผวนมันเป็นเช่นนี่พี่น้องเอ๋ย

สมมุติว่าวันที่ 1 ผักบุ้งล้นตลาด แน่นอนราคาย่อมถูกและก็ขายยาก รถบรรทุกที่ขนผักเข้ามาส่วนมากก็เป็นพ่อค้าเหมือนกัน ไปเหมาสวนมา เมื่อขายไม่ได้ขายยาก วันที่ 2 ก็ไปหาอย่างอื่นมาขายดีกว่าหรือไม่เข้าตลาด แล้วถ้าวันที่ 2 พ่อค้าหลายๆคันไม่เอาผักบุ้งมาขาย ผักบุ้งก็ขาดตลาด มีราคา แย่งกันซื้อ สินค้าขาดตลาด ทำให้ราคาสูงขึ้น

แล้วไอ้ที่ราคาในแต่ละชั่วโมงไม่เท่ากันมันเป็นอย่างไร อย่างที่บอกผักมันขาดตลาดไม่ได้ขาดสวน มาสมมุติต่อ ในเมื่อวันที่ 2 ในช่วงเย็นรถผักบุ้งเข้าตลาดน้อย ผักเริ่มมีราคาพ่อค้าในตลาดก็จะโทรแจ้งโทรตามรถบรรทุกผัก ให้เอาผักบุ้งมาลง กว่ารถผักบุ้งจะมาถึงตลาดมันก้ต้องดึก แล้วถ้าผักบุ้งทุกคันมาถึงพร้อมกันตอนดึกราคาจะเป็นอย่างไรคิดดูเอาครับพี่น้อง แต่ไม่ต้องกังวลเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นไม่บ่อยนัก

ทีนี้มาพูดถึงผักที่ไม่มีราคาผักล้นตลาด ถ้ารถผักใจร้อนก็ต้องยอมขายถูก แต่ถ้าใจเย็นผักก็อาจขายไม่หมดหรือไม่ได้ขาย เมื่อรถถึงคิวลงลานแล้วยังไม่มีคนมาตัด ก็ต้องนั่งขายเองในลานผัก

ส่วนรถก็ไปจอดไว้ข้างนอก(หมายถึงบริเวณที่ทางตลาดจัดไว้ให้จอด) ส่วนมากยอมขายในราคาถูก หรือบางคันมาเป็นครอบครัวภรรยาเป็นคนนั่งขายในลาน สามีกับลูกกับญาติกับลูกน้องออกไปหาเหมาสวนแบ่งหน้าที่กันทำ หรือบางกลุ่มเป็นขาประจำซึ่งกันและกัน

บางครอบครัวก็ทำสวนเอง ขนบรรทุกเอง ขายเอง ทำกันเป็นครอบครัว ปีหนึ่งได้เป็นล้าน ผมอยากทำอย่างเขาเหมือนกันแต่ตอนนั้นยังไม่มีครอบครัวและไม่มีสวนเป็นของตัวเอง ผมตัดผักขายอยู่ประมาณครึ่งปีก็ออกไปตระเวนเหมาสวนกับเพื่อนอยู่อีกครึ่งปี รู้สึกลำบากมาก ก็เรายังไม่มีสวนประจำ

จะไปเข้าสวนที่มีเจ้าประจำก็อาจมีปัญหากัน เลยออกจากตลาดมาปลูกพวกมะละกอ ฟักแฟง ผักชี กะว่าจะปลูกเองขายเอง แต่พอผลผลิตออกมาเจอช่วงไม่มีราคา ก็เลยเจ๊ง ทำสวนอยู่ 1 ปี พอดีมีญาติอยู่ก็เลยไปวิ่งเหมาสวนญาติที่ต่างจังหวัดขายทั้งตลาดรางรถไฟ และ ตลาดพูลผล(พึ่งเปิดใหม่) ตลาดที่นี่เล็กกว่าตลาดสี่มุมเมือง

สมัยนั้นค่าตลาดเก็บคันละ 50 บาท ค่าลานไม่ต้องเพราะไม่มีลานเหมือนสี่มุมเมือง ผักวางขายบนรถเลย(ทุกวันนี้ไม่ทราบ) ตลาดที่นี่ไม่ค่อยจะวุ่นวายมากเท่าไหร่ สวนไหนใครมีรถปิคอัพเองถ้าคำนวนแล้วคุ้มค่าน้ำมันก็บรรทุกมาขายเองได้เลย ไม่ต้องเสียเปรียบพ่อค้า

ความจริงถ้าเรามีพืชผลไม่มากไม่มีพรรคพวกในตลาด อย่าเข้ามาในตลาดใหญ่เลย ส่วนมากมักจะเสียเปรียบพ่อค้า แต่มันก็ท้าทาย คือถ้าเรามีผักที่กำลังขาดสวนจริง(ไม่ใช่ขาดตลาด) เช่น ผมเคยวิ่งรถหาผักทั้งวันได้ผักชี 30 กิโล ซื้อสวนมาโลละ 30 บาทขาย ได้โลละ 120 หักค่าน้ำมัน 400(สมัยนั้นน้ำมันถูกมาก) ค่าตลาดค่าลานกำไรเหลือตั้ง 2000

เอาเป็นว่า ถ้าใครอยากเอาผลิตผลของตัวเองขายตลาดขายส่ง ถ้าคำนวนค่าใช้จ่ายแล้วคุ้มก็มาเลย อย่าไปกลัวเกินเหตุ ถ้าเป็นตลาดใหญ่ แล้วเราไม่มีเพื่อนเริ่มแรกก็ให้มาสำรวจตลาดเขาก่อน ดูกฎระเบียบเขา สังคมของเขา ดูเส้นทางเข้าออก ลานจอด ห้องน้ำ เพราะสินค้าเกษตร มันมาเสียเทียวไม่ได้

ยิ่งเป็นผักสดจะอยู่บนรถนานไม่ได้ ผักจะร้อนแล้วก็เสี ยเร็ว ฉะนั้นมือใหม่ต้องสำรวจลู่ทางก่อนจะมา แต่อย่ากลัวเกินไป เพราะคนเราไม่มีใครเกิดมาวันแรกก็กินข้าวเป็นเดินได้ ทุกอย่างต้องเรียนรู้

ตลาดสี่มุมเมืองรังสิตร

กลับมาที่สี่มุมเมือง ส่วนพวกผลไม้จะถูกจัดอยู่อีกคนละโซน ผมไม่เคยมีผลไม้ไปขาย แต่เคยไปเดินซื้อก่อนกลับบ้าน เห็นรถผลไม้จอดแช่เรียงกันเหมือนลานจอดรถ มีทั้งที่อยู่บนรถและลงจากรถ แต่เรื่องกฎระเบียบผมไม่ทราบ

ส่วนตลาดไท ผมไม่รู้อะไรมาก สมัยนั้นพึ่งเปิดใหม่ ยังไม่มีผู้คน เดี๋ยวนี้ผู้คนคงจะเยอะขึ้น วันแวะผ่านไปจะสำรวจมาเล่าให้ฟัง ผมเคยเอาแตงโมไปขาย มองดูผู้คนบางตาคิดว่าไม่น่าจะขายได้ ก็ขับรถออกมาเสียตังค่าตลาดฟรี ตระเวนขายตามชุมชน ได้ราคาสูงกว่าเยอะ แตงโมขายใจเย็นได้ไม่ต้องรีบร้อน

สุดท้ายแนะนำเกษตรกรที่อยากนำผลิตผลของตัวเองออกขายตลาดเอง ให้มองหาตลาดที่อยู่ใกล้ที่สุด เริ่มจากตลาดในตัวตำบล ถ้าผลิตผลเรามากพอก็ไปดูตลาดอำเภอ ตลาดจังหวัดไม่น่าจะต่างอะไรจากตลาดอำเภอ ต่างตรงที่ขนาดใหญ่กว่า


แชร์ - ส่งบทความให้เพื่อน
อ่าน :  แจกสูตรผลดกกิ่งแทบปัก ทำแค่ 3 นาที รับรองพืชผักผลไม้ ผลดก

เรื่องที่เกี่ยวข้อง