เตรียมจับตา ทุเรียนแคดเมียมเวียดนาม เข้าไทย หวั่นสวมสิทธิไทยทั้งผลสด-แช่แข็งไปจีน

แชร์ - ส่งบทความให้เพื่อน

เตรียมจับตา ทุเรียนแคดเมียมเวียดนาม เข้าไทย หวั่นสวมสิทธิไทยทั้งผลสด-แช่แข็งไปจีน

จากที่เว็บไซต์ประชาชาติธุกริจ รายงานข่าว วันที่ 23 มิถุนายน 67 ทุเรียนใต้เปิดฤดูราคาดิ่งจากสูงสุด 170-175 บาท/กก. เพียง 10 วันเหลือ 120 บาท/กก. ล้งแจงสารพัดปัญหา ชนฤดูร้อนจีนมีผลไม้อื่นขายถูกแย่งพื้นที่-เศรษฐกิจจีนกำลังซื้อไม่ดี-ขายทุเรียนไม่ออก-ปัญหาทุเรียนอ่อน ล่าสุด สวพ.7 ตรวจพบ “ล้งใหญ่” หลายแห่งมีทุเรียนด้อยคุณภาพ ถูกขึ้นบัญชี “ล้งสีแดง 27 ล้ง” ทำชะงักหยุดซื้อ หวั่นผลกระทบทุเรียนเวียดนามเจอแคดเมียมไหลมาสวมสิทธิเป็นทุเรียนไทยส่งออกไปทั้งผลสด-แช่แข็ง ทำผู้ส่งออกหวั่นไทยถูกจีนแบนไปด้วย

แหล่งข่าวในวงการทุเรียน เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้ราคาทุเรียนภาคใต้ดิ่งลงทุกวัน ทั้งที่อยู่ในช่วงต้นฤดู และออกมาปริมาณน้อย จากช่วงเปิดฤดูต้นเดือนมิถุนายน 2567 ราคาหน้าล้ง เกรด AB รับซื้อสูงสุด 170-175 บาท และเริ่มปรับลงมาอยู่ที่ กก.ละ 155-160 บาท ราคาไม่แรงเหมือนทุเรียนภาคตะวันออกช่วงเปิดฤดูที่ขึ้นไปสูงถึง กก.ละ 220-230 บาท และล่าสุดช่วงปลายสัปดาห์ ราคาเกรด AB ลงมาเหลือ 120 บาท/กก. สาเหตุที่ทุเรียนราคาลงมาก เนื่องจาก

1) ปัญหาทุเรียนอ่อน เนื่องจากช่วงต้นฤดูราคาดี ต่างเร่งตัด และถูกส่งไปตลาดจีน เป็นการทำลายตลาด

2) ช่วงนี้อากาศร้อนตลาดจีนไม่นิยมกินทุเรียน และมีผลไม้อื่น ๆ ออกมาแข่งขัน เช่น ลิ้นจี่ องุ่น ราคาถูกกว่า ทำให้ทุเรียนขายยาก ตลาดระบายไม่ออก ล้งจึงต้องปรับราคารับซื้อตามราคาตลาดปลายทางที่ลดลง กระทบบางล้งที่เหมาราคาไว้ล่วงหน้าต้องเจรจาขอชาวสวนลดราคาลง ล้งทำกำไรยาก จึงกดซื้อราคาต่ำ

3) เศรษฐกิจจีนกำลังซื้อไม่ดีนัก แม้คนจีนนิยมกินทุเรียนไทยมากกว่าทุเรียนเวียดนาม แต่ราคาทุเรียนเวียดนามถูกกว่าไทยอยู่ที่ 110-115 บาท/กก. ขณะที่ราคาทุเรียนไทยรับซื้อหน้าล้ง 120 บาท/กก. ยังไม่รวมค่าขนส่งไปจีน ล้งจึงกดราคารับซื้อให้ต่ำลงเป็นระยะ ๆ

4) ล้งมีต้นทุนสูงขึ้น เพราะช่วงต้นฤดูล้งส่วนใหญ่อยู่ในภาคตะวันออก เพิ่งย้ายมารับซื้อทุเรียนที่ภาคใต้และภาคกลาง เช่น จ.กาญจนบุรี อุตรดิตถ์ ศรีสะเกษ ต้องขนทุเรียนกลับไปบรรจุที่ จ.จันทบุรี

5) ล้งจำนวนมากประสบภาวะขาดทุนจากทุเรียนภาคตะวันออก จึงเสนอรับซื้อราคาต่ำ ทั้งที่ปริมาณทุเรียนน้อยราคาน่าจะสูง

และ 6) ปัญหาล้งขนาดใหญ่ที่มีแบรนด์ยอดนิยมในตลาดจีน หยุดรับซื้อ เนื่องจากถูกสำนักงานวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 7 (สวพ.7) ส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปสุ่มตรวจสอบคุณภาพทุเรียน เปอร์เซ็นต์น้ำหนักแห้ง พบผลผลิตทุเรียนด้อยคุณภาพในบางลอต จึงจัดอยู่ในกลุ่ม “ล้งสีแดง” 27 ล้ง ซึ่งหลายล้งเป็นล้งขนาดใหญ่ และมีวอลุ่มมาก “หยุดรับซื้อทุเรียน” ทำให้ล้งแข่งขันกันน้อยลง และปกติล้งขนาดใหญ่จะซื้อแพง มีลูกค้าเฉพาะกลุ่ม หากหยุดรับซื้อแต่กลุ่มลูกค้ายังมีความต้องการอยู่อาจจะหันไปหาซื้อทุเรียนเวียดนาม มาเลเซียแทน

ส่วนกรณีจีนตรวจพบทุเรียนเวียดนามมีสารแคดเมียม มีการระงับการนำเข้านั้น ไม่ถึงกับเป็นโอกาสของตลาดทุเรียนไทย แต่มีผลกระทบต่อทุเรียนไทยถูกด่านตรวจอย่างเข้มข้น ทำให้การนำเข้าต้องล่าช้าจาก 7-8 วัน เป็น 10 วัน การใช้เวลานานขึ้น ทำให้มีค่าใช้จ่ายมากขึ้น

ทุเรียนอยู่เวียดนามสวมไทยได้
แหล่งข่าวจากวงการทุเรียนภาคใต้ กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การที่จีนตรวจพบทุเรียนเวียดนามมีสารแคดเมียมเกินมาตรฐาน และถูกระงับการส่งออกนั้น ปัญหาคือ ทุเรียนภาคใต้ของไทยออกตรงกับทุเรียนหมอนทองเวียดนาม ที่ออกมาตั้งแต่กลางเดือนมิถุนายนเป็นต้นไป สิ่งที่น่ากลัวคือ อาจจะมีการนำเข้าทุเรียนเวียดนามเข้ามาสวมสิทธิทุเรียนไทยส่งออกไปจีน เพื่อแข่งขันกันทำกำไรส่วนต่าง เพราะราคาทุเรียนเวียดนามต่ำกว่าทุเรียนไทย

“ในอดีตการนำทุเรียนเวียดนามมาสวมสิทธิไทยเกิดขึ้นนานแล้ว เพราะมีช่องทางกฎหมายให้นำเข้าโรงงานแปรรูปได้ จึงต้องระวังทุเรียนแช่แข็งที่ส่งออก โดยขนส่งจากเวียดนามทางเรือเข้ามากัมพูชาแล้วใช้รถยนต์บรรทุกเข้าสู่ชายแดนไทยด้านตะวันออก”

แหล่งข่าวจากวงการทุเรียนในภาคตะวันออก เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การสวมสิทธิทุเรียนเวียดนามเป็นทุเรียนไทย ได้พัฒนาถึงขั้นที่ไม่ต้องนำทุเรียนเข้ามาบรรจุตู้ในโรงคัดบรรจุที่ไทยแล้ว เอกสารทุกอย่างชิปปิ้งดำเนินการให้ เตรียมรอไว้ที่เวียดนามทั้งหมด สติ๊กเกอร์ติดขั้ว กล่องบรรจุ แม้กระทั่งรถบรรทุกตู้คอนเทนเนอร์ ใช้ระยะเวลาเดินทางสั้นไม่เกิน 3 วัน แต่หากตรวจพบแคดเมียมในนามทุเรียนไทย จะถูกระงับการนำเข้าไปด้วย

ทุเรียนใต้ชนฤดูผลไม้จีนราคาดิ่ง
นายณธกฤษ เอี่ยมสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แพลททินัม ฟรุ๊ต จำกัด ผู้ส่งออกทุเรียนและผลไม้รายใหญ่ของไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กรณีจีนตรวจพบสารแคดเมียมในทุเรียนเวียดนาม ทำให้ทุเรียนภาคใต้ที่กำลังออกได้อานิสงส์ด้านราคาขายเฉลี่ยมากขึ้น เฉพาะช่วงเดือนมิถุนายน เพราะช่วงฤดูกาลทุเรียนภาคใต้ออก เป็นช่วงที่ฤดูกาลผลไม้ภายในประเทศจีนออก ซึ่งราคาผลไม้ในประเทศจีนเป็นปัจจัยสำคัญ อาจส่งผลกระทบต่อราคาขายทุเรียนที่จีนอาจจะไม่ได้สูงขึ้นตามปริมาณทุเรียนที่ลดลง เพราะถ้าราคาสูงเกินไป ผู้บริโภคจะหันไปซื้อผลไม้ชนิดอื่นทดแทน

กรณีมีผู้ประกอบการล้งจีนในเวียดนามโดนแบนเรื่องสารตกค้างแคดเมียม เป็นห่วงว่าจะมีทุเรียนจากพื้นที่เพาะปลูกที่มีปัญหาปนเปื้อนแคดเมียมจะมาสวมสิทธิทุเรียนผลสด และทุเรียนแกะเนื้อแช่แข็งในนามของประเทศไทยส่งออกไปจีน

และหากโดนทางการจีนตรวจพบสารแคดเมียม จะนำไปสู่การตรวจเข้มและห้ามนำเข้าทุเรียนไทยในอนาคตได้

“เรื่องสวมสิทธิทุเรียนไทยเกิดขึ้นในสมัยก่อน ที่ทางประเทศจีนจะเปิดให้ทุเรียนเวียดนามเข้าอย่างเสรี แต่หลังจากทุเรียนเวียดนามสามารถส่งผลสดเข้าไปประเทศจีนได้ การสวมสิทธิทุเรียนสดก็ได้หมดไป แต่หวั่นพอเกิดการพบสารแคดเมียมครั้งนี้ ปัญหาการสวมสิทธิอาจจะกลับมาอีกครั้ง” นายณธกฤษกล่าว

ที่มา : ประชาชาติธุกริจ


แชร์ - ส่งบทความให้เพื่อน
อ่าน :  เปลือกไข่มีค่าอย่าทิ้ง นำมาทำเป็นปุ๋ยบำรุงต้นไม้ได้

เรื่องที่เกี่ยวข้อง