Site icon เกษตร นานา Kaset NaNa

ตัวห้ำ มวนดำก้นลาย Amphibolus venator (Klug) แมลงศัตรูธรรมชาติ ของแมลงศัตรูพืช

แชร์ - ส่งบทความให้เพื่อน

ตัวห้ำ มวนดำก้นลาย Amphibolus venator (Klug) แมลงศัตรูธรรมชาติ ของแมลงศัตรูพืช

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Amphibolus venator (Klug) (Heteroptera : Reduviidae)

รูปร่างลักษณะ ชีวประวัติ และอุปนิสัย
มวนดำก้นลาย เป็นแมลงในวงศ์ Reduviidae มีจำนวนมากที่สุดเมื่อเทียบกับวงศ์อื่น ๆ ที่อยู่ในอันดับ Heteroptera ซึ่งมักจะเรียกว่า มวนตัวห้ำ (predaceous bug) ตัวเต็มวัย มีขนาดลำตัวยาว 10.0 มิลลิเมตร ลักษณะเด่นของแมลงในวงศ์นี้ คือ ส่วนหัวตรงด้านหลังตารวม (compound eye) มีขนาดยาว ปากแทงดูดสั้นและโค้งงอ มวนตัวห้ำเหล่านี้ส่วนใหญ่มักดูดกินน้ำเลี้ยงแมลงศัตรูผลิตผลเกษตรในอันดับ Coleoptera มวนดำก้นลายมีลำตัวสีดำเป็นมันแวววาว มักหลบซ่อนอยู่ใต้ภาชนะต่าง ๆ ที่วางอยู่ในโกดังหรือโรงสี เช่น กระสอบปอที่มีเศษข้าวเศษรำ เป็นศัตรูที่สำคัญของแมลงในอันดับ Coleoptera เช่น มอดแป้ง มอดฟันเลื่อย ด้วงอิฐ ด้วงดำ หนอนนก และหนอนผีเสื้อข้าวสาร ตัวเต็มวัยเพศเมียวางไข่เฉลี่ย 97.9 ฟอง โดยวางไข่ เป็นกลุ่ม ๆ ละ 2-3 ฟอง ไข่ รูปวงรีมีจุกสีขาวปิด ตัวอ่อน จะฟักออกทางด้านจุกสีขาว ระยะไข่ 8-9 วัน อุณหภูมิและความชื้นที่เหมาะสมต่อการเจริญของระยะไข่คือ 27 ºC และความชื้น 60% ตามลำดับ ตัวอ่อนลอกคราบ 5 ครั้ง มีบางตัวลอกคราบ 6 ครั้ง ระยะตัวอ่อน 78 วัน ระยะตัวเต็มวัย 168-411 เฉลี่ย 269 วัน ตัวเต็มวัยเพศเมียจะกินเหยื่อหรือฆ่าเหยื่อได้มากกว่าเพศผู้

ภาพ – วงจรชีวิต ตัวห้ำ มวนดำก้นลาย Amphibolus venator (Klug)

เขตการแพร่กระจาย
ทวีปแอฟริกาเหนือ ตะวันออกกลาง ญี่ปุ่น มาเลเซีย และไทย

แมลงอาศัย
มอดฟันเลื่อย Oryzaephilus surinamensis Linnaeus, ด้วงอิฐ Trogoderma granarium Everts, ด้วงดำ Alphitobius diaperinus (Panzer), ด้วงหนอนนก Tenebrio molitor Linnaeus และผีเสื้อข้าวสาร Corcyra cephalonica Stainton

-*-*-*-*-

ตัวห้ำ ที่พบนในประเทศไทย
จากการสำรวจศัตรูธรรมชาติในโรงสี โกดังเก็บข้าว ทั้งของราชการและเอกชน พบตัวห้ำทั้งหมด 29 ชนิด ซึ่งจัดอยู่ใน 4 อันดับคือ Coleoptera, Dermaptera, Diptera และ Heteroptera สำหรับอันดับ Coleoptera พบแมลงที่เป็นด้วงตัวห้ำ 12 ชนิด อันดับ Dermaptera พบตัวห้ำ 4 ชนิด อันดับ Diptera พบแมลงวันตัวห้ำ 1 ชนิด และอันดับ Heteroptera พบมวนตัวห้ำทั้งหมด 13 ชนิด แต่ตัวห้ำที่สำคัญและพบมากที่สุดคือ Xylocoris flavipes, Joppeicus paradoxus, Amphibolus venator และ Peregrinator biannulipes

ชนิดวงศ์ของตัวห้ำ ที่พบในประเทศไทย ดังนี้

Order : Coleoptera
Family : Carabidae
Species : Chlaeminus sp., Amblystomus sp. 1, Amblystomus sp. 2, Amblystomus sp. 3, Stenolophus sp. 1, Stenolophus sp. 2, Eucolliuris sp., Zuphium sp., Aephnidius sp.

Family : Histeridae
Species : Carcinops pumilio (Erichson)

Family : Cleridae
Species : Thaneroclerus buqueti (Lefebvre), Tilloidea notata (Klug)

Order : Dermaptera
Family : Carcinophoridae
Species : Euborellia plebeja (Dohrn), Euborellia femoralis (Dohrn), Euborellia sp.

Family : Forficulidae
Species : Forficula sp.

Order : Diptera
Family : Scenopinidae
Species : Scenopinus sp.

Order : Heteroptera
Family : Reduviidae
Species : Amphibolus venator (Klug)*(พบมาก), Peregrinator biannulipes (Montrouzier & Signoret)*(พบมาก), Vesbius purpureus (Thunberg)*(พบมาก)

Family : Joppeicidae
Species : Joppeicus paradoxus Puton*(พบมาก)

Family : Anthocoridae
Species : Cardiastethus pygmaeus Poppius*(พบมาก), Amphiareus constrictus (Stål), Physopleurella sp., Dufouriellini gen. A sp., Dufouriellini gen. B sp., Xylocoris (Arrostelus) flavipes (Reuter)*(พบมาก), Xylocoris (Proxylocoris) sp. 1*(พบมาก), Xylocoris (Proxylocoris) sp. 2*(พบมาก)

-*-*-*-*-

ที่มา : PDF แมลงที่พบในผลิตผลเกษตร และการป้องกันกำจัด โดย กองวิจัยและพัฒนาวิชาการหลักการเก็บเกี่ยว และแปรรูปผลิตผลเกษตร – กรมวิชาการเกษตร


แชร์ - ส่งบทความให้เพื่อน
Exit mobile version