ผีเสื้อข้าวเปลือก (Angoumois grain moth) แมลงศัตรูของเมล็ดพืช และผลิตผลเกษตร

แชร์ - ส่งบทความให้เพื่อน

ผีเสื้อข้าวเปลือก (Angoumois grain moth) แมลงศัตรูของเมล็ดพืช และผลิตผลเกษตร

ชื่ออื่นๆ : Angoumois grain moth, Rice grain moth, Rice moth
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Sitotroga cerealella (Olivier) (Lepidoptera : Gelechiidae)

ความสำคัญและลักษณะการทำลาย
ผีเสื้อข้าวเปลือก เป็นแมลงศัตรูสำคัญที่สุดของข้าวเปลือก และเป็นแมลงที่ทำความเสียหายให้แก่ข้าวเปลือกในยุ้งฉางนอกจากนี้ ยังสามารถทำลายข้าวฟ่าง ข้าวโพด และธัญพืชอื่น ๆ ที่มีรอยแผล ลักษณะการทำลาย ตัวเต็มวัยเพศเมียบินไปวางไข่ที่เมล็ดข้าวเปลือกตั้งแต่ยังอยู่ในนาข้าว และขยายพันธุ์เพิ่มจำนวนในยุ้งและโรงสี การทำลายเพิ่มสูงขึ้นเมื่อทำการเก็บเกี่ยวข้าวล่าช้ากว่าปกติ และเมื่อมีความชื้นในเมล็ดข้าวเปลือกสูงการทำลายของผีเสื้อข้าวเปลือกเพิ่มขึ้นแต่ถ้าความชื้นต่ำลงการทำลายจะลดลงมาก เฉพาะตัวหนอนเท่านั้นที่เข้าทำลาย โดยหลังจากฟักออกจากไข่จะเจาะเข้าสู่เมล็ดข้าวเปลือก กัดกินและเจริญเติบโตอยู่ภายในเมล็ด จนข้าวเปลือกเหลือแต่เปลือก

ผีเสื้อข้าวเปลือก (Angoumois grain moth)

รูปร่างลักษณะ ชีวประวัติ และอุปนิสัย
ไข่ มีสีขาว ลักษณะยาวรี ระยะไข่ประมาณ 4-6 วัน หนอน มีลำตัวสีขาว ส่วนหัวมีขนาดเล็ก สีเหลืองอมน้ำตาล ลอกคราบ 4-5 ครั้ง ที่อุณหภูมิ 30 ºC และความชื้นสัมพัทธ์ 80% ระยะหนอนประมาณ 19-26 วัน ดักแด้ เข้าดักแด้อยู่ภายในเมล็ด หนอนจะกัดเปลือกข้าวเป็นรูปวงกลมจนเหลือแต่เยื่อบาง ๆ แล้วจึงเข้าดักแด้ระยะดักแด้ประมาณ 5 วัน เมื่อเป็นตัวเต็มวัยเจาะผิวเมล็ดออกมาทำให้เมล็ดเป็นรู ตัวเต็มวัย มีขนาดเล็กสีน้ำตาลอ่อน ขนาดลำตัวยาว 5.0-7.0 มิลลิเมตร เมื่อกางปีกออกยาวประมาณ 10.0-16.0 มิลลิเมตร ปีกหลังมีสีออกเทา ตามปีกมีขนยาว ๆ เป็นแผง ซึ่งมีความยาวมากกว่าความกว้างของปีก ปลายปีกโค้งแหลมยื่นออกไปตัวเต็มวัยเพศเมียวางไข่เป็นกลุ่มหรือเดี่ยวครั้งละประมาณ 20 ฟอง บนเมล็ดข้าวเปลือก โดยทั่วไปเพศเมียวางไข่ได้มากถึง 200 ฟอง ระยะตัวเต็มวัยประมาณ 5-10 วัน อุณหภูมิและความชื้นสัมพัทธ์ที่เหมาะสมสำหรับการเจริญเติบโต คือ อุณหภูมิ 25 ºC และความชื้นสัมพัทธ์ 70% วงจรชีวิตจากระยะไข่ถึงระยะตัวเต็มวัยประมาณ 25-29 วัน อุปนิสัย ตัวหนอนเจาะเข้าไปทำลายและเจริญเติบโตภายในเมล็ดข้าวเปลือกเพียงเมล็ดเดียว สำหรับตัวเต็มวัยเพศเมียเมื่อวางไข่แล้วมีการปล่อยสารเหนียวให้ไข่ยึดติดกัน และยึดติดกับวัสดุที่วางไข่ ถ้าหากเข้าไปในยุ้งเก็บข้าวเปลือกจะเห็นตัวเต็มวัยผีเสื้อข้าวเปลือกบินหรือเกาะอยู่บนกองข้าวเนื่องจากชอบทำลายเฉพาะส่วนบนของกองข้าว

ภาพ – วงจรชีวิตผีเสื้อข้าวเปลือก Sitotroga cerealella (Olivier)

การแพร่กระจายและฤดูการระบาด
การแพร่กระจาย ทั่วโลก สำหรับในประเทศไทยพบในยุ้งข้าวเปลือกและโรงสี ฤดูการระบาดตลอดปี

พืชอาหาร
ข้าวเปลือก ข้าวโพด ข้าวฟ่าง ข้าวสาลี และเมล็ดธัญพืชชนิดอื่น

กำจัดด้วยศัตรูธรรมชาติ
แตนเบียน ได้แก่ Bracon hebetor Say, Dibrachys carus (Walker), Proconura minusa Narendran, Anisopteromalus calandrae (Howard) และ Trichogramma spp.

ตัวห้ำ ได้แก่ Anomalochrysa maclachlani Blackburn และ Xylocoris flavipes (Reuter)

-*-*-*-*-

ที่มา : PDF แมลงที่พบในผลิตผลเกษตร และการป้องกันกำจัด โดย กองวิจัยและพัฒนาวิชาการหลักการเก็บเกี่ยว และแปรรูปผลิตผลเกษตร – กรมวิชาการเกษตร


แชร์ - ส่งบทความให้เพื่อน
อ่าน :  ช่างเผยเอง การสร้างบันไดจำนวนคี่ มีข้อดีไม่ใช่แค่เรื่องความเชื่อ (มีคลิป)

เรื่องที่เกี่ยวข้อง