ผีเสื้อข้าวสาร (Rice moth) แมลงศัตรูของเมล็ดพืช และผลิตผลเกษตร

แชร์ - ส่งบทความให้เพื่อน

ผีเสื้อข้าวสาร (Rice moth) แมลงศัตรูของเมล็ดพืช และผลิตผลเกษตร

ชื่ออื่นๆ : Rice meal moth
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Corcyra cephalonica Stainton (Lepidoptera : Gelleriidae)

ความสำคัญและลักษณะการทำลาย
ผีเสื้อข้าวสาร เป็นแมลงศัตรูที่สำคัญของข้าวสาร โดยเฉพาะข้าวที่เก็บไว้เป็นเวลานานทำให้ข้าวสารมีลักษณะเป็นก้อนไม่น่าดูและเสื่อมคุณภาพ จนบางครั้งนำไปบริโภคไม่ได้ ซึ่งเกิดจากตัวหนอนของผีเสื้อข้าวสารไปชักใยอยู่ระหว่างเมล็ดข้าว ทำให้ข้าวสารติดกันเป็นก้อน ลักษณะการทำลาย ตัวหนอนอาศัยแทะเล็มข้าวสารอยู่ภายในใยนั้น พร้อมทั้งขับถ่ายของเสียออกมาเป็นเม็ดเล็ก ๆ กระจายอยู่เต็มกองข้าว นอกจากนี้สามารถทำลายธัญพืชอื่น ๆ เช่น ผลไม้แห้ง เครื่องเทศ ถั่วบางชนิด และช็อกโกแลตได้อีกด้วย

ผีเสื้อข้าวสาร (Rice moth)

รูปร่างลักษณะ ชีวประวัติ และอุปนิสัย
ไข่ มีสีขาว ลักษณะเป็นรูปไข่ ระยะไข่ประมาณ 4-5 วัน หนอน มีสีขาว ส่วนหัวของหนอนมีสีน้ำตาลเข้ม หนอนมักสร้างใยปกคลุมตัวเองไว้เพื่อป้องกันตัว ระยะหนอนประมาณ 28-41 วัน ดักแด้เข้าดักแด้ในปลอกที่สร้างขึ้น ระยะดักแด้ประมาณ 6-13 วัน ตัวเต็มวัย เป็นผีเสื้อที่มีขนาดใหญ่กว่าผีเสื้อที่พบในโรงเก็บทั้งหมด ตัวเต็มวัยเมื่อกางปีกมีขนาด 15.0-25.0 มิลลิเมตร มีสีน้ำตาลปนเทา ลำตัวยาว 12.0-15.0 มิลลิเมตร ปีกคู่หน้ามีสีน้ำตาลอมเทาและมีลายเส้นสีน้ำตาลเข้มพาดบนปีก ปีกคู่หลังมีสีครีมเวลาเกาะอยู่ปีกหุบขนานกับลำตัว ในตัวเมีย labial pulp จะตรงไปข้างหน้า ในตัวผู้ labial pulp จะทู่และสั้นมองไม่ชัดเจน เพศเมียสามารถผลิตสารเหนียวเพื่อให้ไข่ติดแน่นกับอาหาร วางไข่ประมาณ 44-370 ฟอง มักวางไข่เดี่ยว ๆ เมื่อตัวเต็มวัยเพศเมียผสมพันธุ์และวางไข่แล้วจะตายทันที ผีเสื้อข้าวสารไม่ชอบความชื้นโดยอุณหภูมิและความชื้นสัมพัทธ์ที่เหมาะสมสำหรับการเจริญเติบโต คือ อุณหภูมิ 30-32.5 ºC และความชื้นสัมพัทธ์ 70% วงจรชีวิตจากระยะไข่ถึงระยะตัวเต็มวัยประมาณ 30-40 วัน

ภาพ – วงจรชีวิตผีเสื้อข้าวสาร Corcyra cephalonica Stainton

การแพร่กระจายและฤดูการระบาด
การแพร่กระจาย พบแพร่ระบาดทั่วโลก โดยเฉพาะในเขตร้อน ประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทวีปแอฟริกา ในประเทศไทยพบทั่วไปตามโรงสีและโรงอาหารสัตว์ ฤดูการระบาด พบระบาดตลอดปี

พืชอาหาร
ข้าวสาร ผลิตภัณฑ์จากข้าว ถั่วเหลือง ถั่วลิสง ข้าวโพด ข้าวฟ่าง โกโก้ ผลไม้แห้ง ขนมปัง แป้ง เครื่องเทศ และเนื้อมะพร้าวแห้ง

กำจัดด้วยศัตรูธรรมชาติ
แตนเบียน ได้แก่ Telenomus remus Nixon, Trichogramma sp., Bracon hebetor Say, Proconura caryobori (Hanna) และ Antrocephalus mitys (Walker)

ตัวห้ำ ได้แก่ Amphibolus venator (Klug), Blattisocius keegani Fox, B. tarsalis (Berlese), แมลงช้างปีกใส Chrysoperla carnea (Stephens), แมลงช้างปีกใส Mallada basalis (Walker) และ Xylocoris flavipes (Reuter)

-*-*-*-*-

ที่มา : PDF แมลงที่พบในผลิตผลเกษตร และการป้องกันกำจัด โดย กองวิจัยและพัฒนาวิชาการหลักการเก็บเกี่ยว และแปรรูปผลิตผลเกษตร – กรมวิชาการเกษตร


แชร์ - ส่งบทความให้เพื่อน
อ่าน :  แตนเบียน สายพันธุ์ Antrocephalus mitys (Walker) แมลงศัตรูธรรมชาติ ของแมลงศัตรูพืช

เรื่องที่เกี่ยวข้อง