ผีเสื้อข้าวโพด (Tropical warehouse moth) แมลงศัตรูของเมล็ดพืช และผลิตผลเกษตร
ชื่ออื่นๆ : Almond moth, Fig moth, Flour moth
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Ephestia cautella Walker (Lepidoptera : Phycitidae)
ชื่อเดิม : Cadra cautella Walker
ความสำคัญและลักษณะการทำลาย
ผีเสื้อข้าวโพด เป็นแมลงศัตรูที่สำคัญของเมล็ดข้าวโพดและถั่วเขียวรองจากด้วงงวงข้าวโพดและด้วงถั่ว ลักษณะ การทำลาย ตัวหนอนชักใยอยู่ระหว่างเมล็ดและบนผิวเมล็ด ทำให้เมล็ดติดกันเป็นก้อน หลังจากนั้นตัวหนอนกัดกินและอาศัยอยู่ภายในใยนั้น เมื่อมีปริมาณการทำลายสูงทำให้เมล็ดมีสภาพสกปรกไม่น่าดูและเสื่อมคุณภาพในที่สุด ตัวเต็มวัยไม่ทำลายผลิตผลเกษตร
รูปร่างลักษณะ ชีวประวัติ และอุปนิสัย
ไข่ มีสีขาวหรือสีชมพูเคลือบด้วยสารเหนียวขนาด 0.30 มิลลิเมตร ไข่ฟักเป็นตัวหนอนใน 3-6 วัน หนอน มีสีขาวปนเทา ลำตัวยาว เคลื่อนไหวรวดเร็ว ระยะหนอนประมาณ 22-24 วัน ดักแด้ เข้าดักแด้ในปลอกที่ตัวหนอนสร้างขึ้นเป็นเวลา 7-8 วัน จึงกลายเป็นตัวเต็มวัย ตัวเต็มวัย มีขนาดเล็กสีเทา ลำตัวยาว ประมาณ 13.0 มิลลิเมตร เมื่อกางปีกกว้าง 11.0-20.0 มิลลิเมตร ที่ปีกคู่หน้ามีแถบซิกแซ็กสีดำพาดขวางปีก 2 แถบ ตัวเต็มวัยเพศเมียวางไข่สูงถึงประมาณ 300 ฟอง ตามรอยแตกแยกของเมล็ดหรือบนกระสอบบรรจุเมล็ดตัวเต็มวัยมีชีวิตสั้นประมาณ 3-5 วัน ที่อุณหภูมิ 35 ºC วงจรชีวิตจากระยะไข่ถึงระยะตัวเต็มวัยประมาณ 29-33 วัน
การแพร่กระจายและฤดูการระบาด
การแพร่กระจาย พบแพร่กระจายอยู่ทั่วโลก โดยเฉพาะในเขตอบอุ่นและเขตร้อน ฤดูการระบาดตลอดปี
พืชอาหาร
แป้งชนิดต่าง ๆ ผลิตภัณฑ์จากธัญพืช ข้าวสาร ข้าวโพด ถั่วเขียว ถั่วเหลือง ถั่วลิสง ผลไม้แห้ง โกโก้ เครื่องเทศ และเนื้อมะพร้าวแห้ง
กำจัดด้วยศัตรูธรรมชาติ
แตนเบียนทำลายหนอน ได้แก่ Bracon hebetor Say และ Anisopteromalus calandrae (Howard)
ตัวห้ำ ได้แก่ Blattisocius tarsalis (Berlese)
-*-*-*-*-
ที่มา : PDF แมลงที่พบในผลิตผลเกษตร และการป้องกันกำจัด โดย กองวิจัยและพัฒนาวิชาการหลักการเก็บเกี่ยว และแปรรูปผลิตผลเกษตร – กรมวิชาการเกษตร