ผีเสื้อผ้า (Clothes moth) แมลงศัตรูของเมล็ดพืช และผลิตผลเกษตร

แชร์ - ส่งบทความให้เพื่อน

ผีเสื้อผ้า (Clothes moth) แมลงศัตรูของเมล็ดพืช และผลิตผลเกษตร

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Tinea sp. (Lepidoptera : Tineidae)

ความสำคัญและลักษณะการทำลาย
ผีเสื้อผ้า เป็นแมลงศัตรูที่กินเชื้อรา ผม หนัง ฝุ่น กระดาษ ทำลายผ้าขนสัตว์ ผ้าที่ทำจากเส้นใยธรรมชาติ เช่น ผ้าไหม ผ้าฝ้ายที่เก็บไว้นาน ๆ แต่ไม่ทำลายผ้าที่มีส่วนผสมของใยสังเคราะห์ เช่น ไนลอน โพลีเอสเตอร์ เป็นต้น ผ้าที่สกปรกเปื้อนน้ำมันจากผม เหงื่อ และเศษอาหารมักถูกทำลายได้ง่าย นอกจากนั้นหนอนทำลายหมวกขนนก พรมขนสัตว์ ลักษณะการทำลาย ทำลายในระยะตัวหนอนเท่านั้น สำหรับระยะตัวเต็มวัยไม่ทำลายสิ่งของดังกล่าว ในประเทศไทยพบหนอนผีเสื้อชนิดนี้เดินตามผนังบ้านเรือน โรงเรือน โรงเก็บ เมื่อหนอนเข้าดักแด้ มักหยุดเดิน หยุดกินอาหารและอยู่ในปลอกซึ่งปลอกนั้นติดอยู่ตามผนัง รอยแตกหรือรอยห้อยตามเพดาน ทำให้บ้านเรือน โรงเก็บผลิตผล หรือผลิตภัณฑ์ดูสกปรก และบางครั้งอาจปนเปื้อนไปในผลิตผลเกษตร หรือผลิตภัณฑ์ ในต่างประเทศพบหลายชนิด เช่น T. dubiella และ T. pellionella ทำให้เกิดปัญหากับสินค้าจำพวกสิ่งทอ ผ้าขนสัตว์ พรม และปนเปื้อนไปกับผลิตผลเกษตร

ผีเสื้อผ้า (Clothes moth)

รูปร่างลักษณะ ชีวประวัติ และอุปนิสัย
ไข่ ระยะไข่ประมาณ 4-7 วัน หนอน ลำตัวสีขาว มีส่วนหัว และขา 3 คู่ สีน้ำตาลเข้ม มีแผ่นสีน้ำตาลเข้มอยู่ด้านบน (dorsum) ส่วนอก หนอนสร้างเส้นใยหุ้มลำตัวเป็นปลอก ระหว่างเดินหาอาหารกิน และนำเศษขยะที่เป็นฝุ่นผงมาติดที่ปลอกหุ้มลำตัว เวลาหนอนเดินเห็นหัวและขาโผล่ยื่นออกมานอกเปลือก ระยะหนอนประมาณ 68-87 วัน ดักแด้ ระยะดักแด้ประมาณ 9-19 วัน ตัวเต็มวัย เป็นผีเสื้อกลางคืนสีน้ำตาล ขนาด 3.0-5.0 มิลลิเมตร กางปีกเต็มที่มีขนาด 6.0-11.0 มิลลิเมตร ที่ส่วนหัวของผีเสื้อมีขนหยาบ ๆ ผีเสื้อมีปาก (proboscis) ที่เล็ก บางครั้งไม่เจริญ ดังนั้น ระยะตัวเต็มวัยจึงไม่ทำลายสิ่งของ ตัวเต็มวัยเพศเมีย 1 ตัว วางไข่ได้ 37-48 ฟอง โดยวางไข่ตามรอยแตก ตัวเต็มวัยมีอายุ 4-6 วัน

ภาพ – วงจรชีวิตผีเสื้อผ้า Tinea sp.

การแพร่กระจายและฤดูการระบาด
การแพร่กระจาย พบในเขตอบอุ่น เช่น สหรัฐอเมริกา แคนาดา อเมริกากลาง อเมริกาใต้ ยุโรป แอฟริกา เอเชีย เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และออสเตรเลีย

พืชอาหาร
ผ้าไหม ผ้าฝ้าย ผ้าขนสัตว์ ผ้าลินิน พรมขนสัตว์ และเชื้อรา

กำจัดด้วยศัตรูธรรมชาติ

-*-*-*-*-

ที่มา : PDF แมลงที่พบในผลิตผลเกษตร และการป้องกันกำจัด โดย กองวิจัยและพัฒนาวิชาการหลักการเก็บเกี่ยว และแปรรูปผลิตผลเกษตร – กรมวิชาการเกษตร


แชร์ - ส่งบทความให้เพื่อน
อ่าน :  เคล็ดไม่ลับจากเจ้าของสวน แก้พริกใบหงิกได้ง่ายๆ ด้วยงบ 52 บาท

เรื่องที่เกี่ยวข้อง