Site icon เกษตร นานา Kaset NaNa

เหาหนังสือ (Psocids) แมลงศัตรูของเมล็ดพืช และผลิตผลเกษตร

แชร์ - ส่งบทความให้เพื่อน

เหาหนังสือ (Psocids) แมลงศัตรูของเมล็ดพืช และผลิตผลเกษตร

ชื่ออื่นๆ : Book lice, Dust louse
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Liposcelis spp. (Psocoptera : Liposcelidae)

ความสำคัญและลักษณะการทำลาย
เหาหนังสือ เป็นแมลงศัตรูของเมล็ดพืชและผลิตภัณฑ์จากพืช โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่มีความชื้นสูง ฝุ่นที่ติดที่เมล็ด กาวที่ใช้ติดหนังสือ ซึ่งเป็นที่มาของชื่อเหาหนังสือ ลักษณะการทำลาย กัดกินตรงด้านข้างของเมล็ดใกล้จุดงอก รวมทั้งชอบกินแป้งและเศษอาหารที่เกิดจากการทำลายของแมลงชนิดอื่น ๆ

เหาหนังสือ (Psocids)

รูปร่างลักษณะ ชีวประวัติ และอุปนิสัย
เหาหนังสือมีการเจริญเติบโตแบบไม่สมบูรณ์ (incomplete metamorphosis) โดย ตัวอ่อนมีลักษณะเหมือนตัวเต็มวัยทุกประการแต่ตัวเล็กกว่า ลำตัวใส สีเหลืองอ่อนหรือสีขาว ตัวอ่อนลอกคราบ 3-4 ครั้ง จึงเป็น ตัวเต็มวัย ขนาดเล็กมากประมาณ 1.0-2.0 มิลลิเมตร ลำตัวนิ่มมีสีเทาอ่อนหรือเหลืองอ่อนปนน้ำตาล และลำตัวมักแบ่งเป็นปล้องให้เห็นโดยชัดเจน เหาหนังสืออาจมีปีกหรือไม่มีปีก มีหัวขนาดใหญ่และมีตาที่ยังไม่ค่อยสมบูรณ์ ลำตัวเรียวยาว หนวดมีลักษณะคล้ายเส้นด้าย (filiform) การขยายพันธุ์เป็นแบบ parthenogenesis คือ ตัวเต็มวัยเพศเมียสามารถวางไข่ได้โดยไม่ต้องผสมพันธุ์ ตัวเต็มวัยเพศเมีย 1 ตัว วางไข่ได้เฉลี่ย ประมาณ 100 ฟอง แต่ที่อุณหภูมิ 15-32 ºC วางไข่ได้เฉลี่ย 57 ฟอง ระยะไข่ 7 วัน วงจรชีวิตของแมลงและจำนวนไข่ขึ้นอยู่กับอุณหภูมิเป็นสำคัญ ในเดือนที่มีอากาศค่อนข้างเย็นวงจรชีวิตยาวกว่าในเดือนที่มีอากาศอบอุ่น ไม่สามารถมีชีวิตได้ในที่มีความชื้นต่ำกว่า 50% วงจรชีวิตจากระยะไข่ถึงระยะตัวเต็มวัยประมาณ 24 วัน อุปนิสัย เป็นแมลงที่เคลื่อนไหวรวดเร็ว นอกจากนี้ พบว่าเป็นตัวห้ำกินไข่ผีเสื้อข้าวเปลือก

ภาพ – วงจรชีวิตเหาหนังสือ Liposcelis spp.

การแพร่กระจายและฤดูการระบาด
การแพร่กระจาย ในเขตร้อน และเขตอบอุ่น

พืชอาหาร
เมล็ดพืชที่แตกหัก เช่น ข้าวสาร ข้าวเปลือก ข้าวโพด ข้าวฟ่าง แป้ง มันสำปะหลัง รำข้าว เชื้อรา เห็ดหลินจือแห้ง ไข่ผีเสื้ออินเดีย (Plodia interpunctella) ไข่ผีเสื้อข้าวเปลือก ซากแมลง เศษข้าว และเศษเมล็ดพืช

กำจัดด้วยศัตรูธรรมชาติ
แตนเบียน ได้แก่ Alaptus globosicornis Girault

ตัวห้ำ ได้แก่ Blattisocius keegani Fox, Cheyletus malaccensis (Oudemans) และ แมงป่องเทียม (Pseudoscorpion)

-*-*-*-*-

ที่มา : PDF แมลงที่พบในผลิตผลเกษตร และการป้องกันกำจัด โดย กองวิจัยและพัฒนาวิชาการหลักการเก็บเกี่ยว และแปรรูปผลิตผลเกษตร – กรมวิชาการเกษตร


แชร์ - ส่งบทความให้เพื่อน
Exit mobile version