มอดฟันเลื่อย (Saw-toothed grain beetle) แมลงศัตรูของเมล็ดพืช และผลิตผลเกษตร

แชร์ - ส่งบทความให้เพื่อน

มอดฟันเลื่อย (Saw-toothed grain beetle) แมลงศัตรูของเมล็ดพืช และผลิตผลเกษตร

ชื่อวิทยาศาสตร์ : มอดฟันเลื่อย (Saw-toothed grain beetle)

ความสำคัญและลักษณะการทำลาย
มอดฟันเลื่อย เป็นแมลงศัตรูสำคัญของข้าวสาร เครื่องเทศ ผลไม้แห้ง ผลไม้แห้งเปลือกแข็ง และผลิตภัณฑ์จากธัญพืชที่ผ่านขบวนการ ได้แก่ ข้าวมอลท์ ขนมปังกรอบ มักกะโรนี และเส้นหมี่ เป็นต้น ลักษณะการทำลายไม่สามารถทำลายเมล็ดพืชให้ได้รับความเสียหายโดยตรงด้วยตัวเองได้ มักพบเข้าทำลายต่อจากแมลงชนิดอื่นทั้งตัวเต็มวัยและตัวหนอนแทะเล็มอยู่ที่ผิวเมล็ด นอกจากนี้ สามารถกัดกินเมล็ดธัญพืชหรือธัญพืชแปรสภาพที่แตกหักได้อีกด้วย

มอดฟันเลื่อย (Saw-toothed grain beetle)

รูปร่างลักษณะ ชีวประวัติ และอุปนิสัย
ไข่ มีขนาดเล็กมาก สีขาว เรียวยาวไม่คอดตรงกลาง และมีผิวเรียบ ระยะไข่ประมาณ 6-10 วัน หนอน ลำตัวเรียวเล็ก สีขาวนวล ลอกคราบ 2-5 ครั้ง หนอนเมื่อโตเต็มที่ยาวประมาณ 4.0-5.0 มิลลิเมตร ที่อุณหภูมิ 30 ºC ระยะหนอนประมาณ 14 วัน ดักแด้ เข้าดักแด้โดยใช้เศษอาหารสร้างปลอกหุ้มตัว ลักษณะเด่นของดักแด้คือ ด้านข้างของส่วนอกจะมีระยางค์เล็ก ๆ ยื่นออกมาข้างละ 6 เส้น ระยะดักแด้ประมาณ 6-10 วัน ตัวเต็มวัย ขนาดเล็ก สีน้ำตาลเข้ม ลำตัวแบนยาวประมาณ 2.5-3.5 มิลลิเมตร ลักษณะที่เด่นชัดต่างจากแมลงชนิดอื่นคือ ด้านบนของส่วนอกเป็นร่องลึกตามแนวยาว ขอบด้านข้างส่วนอกจะมีลักษณะเป็นฟันเลื่อยข้างละ 6 ซี่ ตัวเมียวางไข่ตลอดชีวิตประมาณ 45-375 ฟอง โดยวางไข่เดี่ยว ๆ หรือเป็นกลุ่มปะปนลงในอาหารหรือตามรอยแตกของเมล็ด ระยะตัวเต็มวัยประมาณ 6-10 เดือน แต่บางตัวอยู่ได้นานถึง 3 ปี อุณหภูมิและความชื้นสัมพัทธ์ที่เหมาะสมสำหรับการเจริญเติบโต คือ อุณหภูมิ 30-35 ºC และความชื้นสัมพัทธ์ 70-90% วงจรชีวิตจากระยะไข่ถึงระยะตัวเต็มวัยประมาณ 20-80 วัน อุปนิสัย ชอบกัดกินตรงส่วนงอกของเมล็ดธัญพืช ไม่ชอบกัดกินส่วนที่เป็นแป้ง หนอนไม่เจาะจงกินอยู่เพียงเมล็ดเดียวแต่กินทุกเมล็ด ตัวเต็มวัยไม่บิน และสามารถทนต่ออุณหภูมิและความชื้นได้ดี

ภาพ – วงจรชีวิตมอดฟันเลื่อย Oryzaephilus surinamensis Linnaeus

การแพร่กระจายและฤดูการระบาด
การแพร่กระจาย ทั่วโลกโดยเฉพาะในเขตอบอุ่นและเขตร้อนชื้น ในประเทศไทยพบในทุกจังหวัดที่มีโรงสีและยุ้งข้าว ฤดูการระบาด ตลอดปี หรือก่อนเก็บเกี่ยวข้าวนาปีเล็กน้อย

พืชอาหาร
เมล็ดธัญพืชทุกชนิด ข้าวสาร มะม่วงหิมพานต์ ถั่ว แป้ง เครื่องเทศ อาหารสัตว์ ยาสูบ เนื้อแห้ง และผลไม้แห้ง

กำจัดด้วยศัตรูธรรมชาติ
แตนเบียน ได้แก่ Anisopteromalus calandrae (Howard), Cephalonomia tarsalis (Ashmead), Cephalonomia meridionalis Brèthes และ Holepyris sylvanidis (Brèthes)

ตัวห้ำ ได้แก่ Amphibolus venator (Klug), Peregrinator biannulipes (Montrouzier & Signoret), Xylocoris flavipes (Reuter) และ Xylocoris cursitans (Fallén)

-*-*-*-*-

ที่มา : PDF แมลงที่พบในผลิตผลเกษตร และการป้องกันกำจัด โดย กองวิจัยและพัฒนาวิชาการหลักการเก็บเกี่ยว และแปรรูปผลิตผลเกษตร – กรมวิชาการเกษตร


แชร์ - ส่งบทความให้เพื่อน
อ่าน :  ฮือฮา! ต้นโพธิ์ ออกใบเป็นสีชมพู มานาน 6 ปี สะพรั่งเต็มต้น หน้าโบสถ์ วัดสีบัวทอง

เรื่องที่เกี่ยวข้อง