Site icon เกษตร นานา Kaset NaNa

มอดแป้ง (Red flour beetle) แมลงศัตรูของเมล็ดพืช และผลิตผลเกษตร

แชร์ - ส่งบทความให้เพื่อน

มอดแป้ง (Red flour beetle) แมลงศัตรูของเมล็ดพืช และผลิตผลเกษตร

ชื่ออื่น ๆ : Rust-red flour beetle, Red grain beetle, Flour weevil, Red weevil, Bran bug
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Tribolium castaneum (Herbst) (Coleoptera : Tenebrionidae)
ชื่อเดิม : Tribolium ferrugineum

ความสำคัญและลักษณะการทำลาย
มอดแป้ง เป็นแมลงศัตรูผลิตผลเกษตรที่สำคัญ เนื่องจากมีพืชอาหารหลากหลายและสามารถขยายพันธุ์ได้รวดเร็ว ลักษณะการทำลาย ไม่สามารถทำลายเมล็ดพืชให้ได้รับความเสียหายโดยตัวเองได้ มักเข้าทำลายภายหลังจากที่แมลงอื่นทำลายเมล็ดพืชจนเป็นรูหรือรอยแตกแล้ว (secondary pest) ตัวหนอนชอบทำลายส่วนงอกของเมล็ด เป็นศัตรูที่สำคัญของแป้งและรำ ทำให้แป้งที่อาศัยกินอยู่เปลี่ยนสีและมีกลิ่นเหม็นซึ่งเกิดจากการปล่อยฮอร์โมน benzoquinones ที่ผลิตจากต่อมที่อยู่ส่วนท้องของมอดแป้ง กลิ่นนี้ติดทนนานในแป้งหรืออาหาร แม้นำแป้งไปทำอาหารแล้วก็ยังมีกลิ่นติดอยู

มอดแป้ง (Red flour beetle)

รูปร่างลักษณะ ชีวประวัติ และอุปนิสัย
ไข่ มีรูปร่างยาวรี สีขาว มีสารเหนียวหุ้มทำให้เกาะติดอาหารได้ง่าย ระยะไข่ประมาณ 3-7 วัน หนอน ลำตัวยาวเรียวสีน้ำตาลอ่อน มีขนละเอียดขึ้นปกคลุมลำตัว เคลื่อนไหวไปมารวดเร็ว มีการลอกคราบ 7-8 ครั้ง ระยะหนอนประมาณ 21-40 วัน ดักแด้ ในตอนแรกมีสีขาวอมเหลือง และเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลเมื่อใกล้ฟักเป็นตัวเต็มวัย ระยะดักแด้ 3-7 วัน ตัวเต็มวัย มีขนาดเล็กสีน้ำตาลปนแดงถึงสีน้ำตาลเข้ม ลำตัวแบนยาวขนาดเล็กประมาณ 2.3-4.4 มิลลิเมตร ปลายหนวดเป็นรูปกระบอง โดยปลายหนวดปล้องที่ 3 มีขนาดใหญ่กว่าปล้องอื่น ๆ ตัวเมียวางไข่ประมาณ 400-500 ฟอง ตามกระสอบ รอยแตกของเมล็ดข้าว ภาชนะบรรจุหรือในแป้ง ระยะตัวเต็มวัยประมาณ 6-18 เดือน อุณหภูมิและความชื้นสัมพัทธ์ที่เหมาะสมสำหรับการเจริญเติบโต คือ อุณหภูมิ 30-35 ºC และความชื้นสัมพัทธ์ 70% วงจรชีวิตจากระยะไข่ถึงระยะตัวเต็มวัยประมาณ 26-40 วัน อุปนิสัย เมื่ออยู่ในสภาพที่หนาแน่น มักกินกันเอง อีกทั้งมีพฤติกรรมเป็นตัวห้ำสามารถทำลายไข่ ตัวหนอน และดักแด้ของแมลงศัตรูผลิตผลเกษตรชนิดอื่น

ภาพ – วงจรชีวิตมอดแป้ง Tribolium castaneum (Herbst)

การแพร่กระจายและฤดูการระบาด
การแพร่กระจาย ทั่วโลก แต่มีมากในเขตอบอุ่นและเขตร้อนชื้น ฤดูการระบาด เข้าทำลายตลอดทั้งปีในประเทศไทย พบทุกภาคและระบาดตลอดปี

พืชอาหาร
เมล็ดธัญพืช เมล็ดยางพารา แป้งชนิดต่าง ๆ รำข้าว เครื่องเทศ กาแฟ โกโก้ ผลไม้แห้ง เนื้อมะพร้าว และหนังสัตว์

กำจัดด้วยศัตรูธรรมชาติ
แตนเบียน ได้แก่ Proconura caryobori (Hanna) และ Anisopteromalus calandrae (Howard)

ตัวห้ำ ได้แก่ Amphibolus venator (Klug), Peregrinator biannulipes (Montrouzier & Signoret), Teretrius nigrescens Lewis และ Xylocoris flavipes (Reuter)

-*-*-*-*-

ที่มา : PDF แมลงที่พบในผลิตผลเกษตร และการป้องกันกำจัด โดย กองวิจัยและพัฒนาวิชาการหลักการเก็บเกี่ยว และแปรรูปผลิตผลเกษตร – กรมวิชาการเกษตร


แชร์ - ส่งบทความให้เพื่อน
Exit mobile version