มอดสมุนไพร (Drug store beetle) แมลงศัตรูของเมล็ดพืช และผลิตผลเกษตร

แชร์ - ส่งบทความให้เพื่อน

มอดสมุนไพร (Drug store beetle) แมลงศัตรูของเมล็ดพืช และผลิตผลเกษตร

ชื่ออื่น ๆ : Biscuit beetle, Bread beetle
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Stegobium paniceum (Linnaeus) (Coleoptera : Anobiidae)

ความสำคัญและลักษณะการทำลาย
มอดสมุนไพร เป็นแมลงศัตรูของสมุนไพรและเครื่องเทศ รวมถึงเมล็ดพืชและผลิตผลจากเมล็ด แต่มีความสำคัญไม่มากนักทางเศรษฐกิจ

มอดสมุนไพร (Drug store beetle)

รูปร่างลักษณะ ชีวประวัติ และอุปนิสัย
วงจรชีวิตคล้ายกับมอดยาสูบ ไข่ มีสีขาว ระยะไข่ประมาณ 4-7 วัน หนอน มีสีขาว ลำตัวโค้งงอคล้ายกับหนอนของมอดยาสูบแต่มีขนาดลำตัวเล็กกว่า และมีขนรอบลำตัวสั้นกว่าหนอนของมอดยาสูบระยะหนอนประมาณ 21-28 วัน ดักแด้ เข้าดักแด้ในปลอกที่สร้างขึ้น ระยะดักแด้ประมาณ 12-18 วัน ตัวเต็มวัยมีลักษณะคล้ายมอดยาสูบมากแต่มีขนาดใหญ่กว่ามอดยาสูบเล็กน้อย โดยมีขนาดลำตัวประมาณ 2.5-3.0 มิลลิเมตร ลักษณะที่แตกต่างจากมอดยาสูบคือ ปลายหนวดของมอดสมุนไพร 3 ปล้องสุดท้ายมีขนาดใหญ่กว่าปล้องอื่น ๆ และบนปีกคู่แรกของมอดสมุนไพรจะมีหลุม เรียงเป็นเส้นตรงไปตามความยาวปีกเห็นได้ชัดเจน ตัวเต็มวัยวางไข่ประมาณ 75 ฟอง ระยะตัวเต็มวัยประมาณ 13-65 วัน ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมมอดสมุนไพรสามารถเจริญเติบโตได้ที่อุณหภูมิระหว่าง 15-34 ºC และความชื้นสัมพัทธ์มากกว่า 35% แต่อุณหภูมิและความชื้นสัมพัทธ์ที่เหมาะสำหรับการเจริญเติบโต คือ อุณหภูมิ 30 ºC และความชื้นสัมพัทธ์มากกว่า 60-90% วงจรชีวิตจากระยะไข่ถึงระยะตัวเต็มวัยประมาณ 40 วัน

ภาพ – วงจรชีวิตมอดสมุนไพร Stegobium paniceum (Linnaeus)

การแพร่กระจายและฤดูการระบาด
การแพร่กระจาย ทั่วโลก แต่มักทำความเสียหายให้กับผลิตผลทางเกษตรในประเทศเขตร้อน และอบอุ่น แต่ในเขตร้อนจะพบน้อยกว่ามอดยาสูบ

พืชอาหาร
พบในพืชอาหารหลายชนิด โดยเฉพาะสินค้าที่ผ่านการแปรรูป เช่น ช็อกโกแลต และขนมปังกรอบนอกจากนี้ ยังพบในสมุนไพรและเครื่องเทศแห้ง และสามารถเข้าทำลายสินค้าที่มีราคาแพง ได้แก่ โกโก้

กำจัดด้วยศัตรูธรรมชาติ
แตนเบียน ได้แก่ Anisopteromalus calandrae (Howard), Cephalonomia gallicola (Ashmead), Lariophagus distinguendus (Förster), Lariophagus puncticollis (Möller), Pteromalus cerealellae (Ashmead) และ Theocolax elegans (Westwood)

ตัวห้ำ ได้แก่ Peregrinator biannulipes (Montrouzier & Signoret), Tenebroides mauritanicus (Linnaeus), Termatophyllum insigne (Reuter), Thaneroclerus buqueti (Lefebvre), Tilloidea notatus Klug, Tillus notatus Klug และ Xylocoris flavipes (Reuter)

ไรตัวห้ำ ได้แก่ Pyemotes tritici (Lagrèze-Fossat & Montané)

-*-*-*-*-

ที่มา : PDF แมลงที่พบในผลิตผลเกษตร และการป้องกันกำจัด โดย กองวิจัยและพัฒนาวิชาการหลักการเก็บเกี่ยว และแปรรูปผลิตผลเกษตร – กรมวิชาการเกษตร


แชร์ - ส่งบทความให้เพื่อน
อ่าน :  ฮือฮา! ต้นโพธิ์ ออกใบเป็นสีชมพู มานาน 6 ปี สะพรั่งเต็มต้น หน้าโบสถ์ วัดสีบัวทอง

เรื่องที่เกี่ยวข้อง