มอดสยาม (Siamese grain beetle) แมลงศัตรูของเมล็ดพืช และผลิตผลเกษตร
ชื่ออื่น ๆ : Nicarguan grain beetle
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Lophocateres pusillus (Klug) (Coleoptera : Lophocateridae)
ความสำคัญและลักษณะการทำลาย
มอดสยาม เป็นแมลงศัตรูของผลิตผลเกษตรหลายชนิด ทั้งธัญพืช ผลิตภัณฑ์จากธัญพืช และถั่วลิสงบด โดยมีถิ่นกำเนิดที่ประเทศไทย พบแพร่ระบาดในหลายพื้นที่ของสหรัฐอเมริกา เนื่องจากมีการนำเข้าข้าวจากไทยนอกจากนี้ พบระบาดทั่วไปในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ลักษณะการทำลาย มักเข้าทำลายร่วมกับด้วงงวงข้าวและมอดข้าวเปลือก โดยกัดกินทำความเสียหายเมล็ดข้าวเฉพาะภายนอก และอาจพบอยู่ในแกลบ นอกจากนี้สามารถกินหนอนของมอดฟันเลื่อยเป็นอาหารได้อีกด้วย
รูปร่างลักษณะ ชีวประวัติ และอุปนิสัย
ไข่ มีลักษณะเรียวยาวคล้ายผลกล้วยหอม ระยะไข่ประมาณ 7-10 วัน หนอน มีลักษณะแบน สีขาว ส่วนหัวเป็นเปลือกแข็งสีดำ มีขาสั้น 3 คู่ ระยะหนอน ประมาณ 25-45 วัน จึงเข้าสู่ระยะดักแด้ ดักแด้ เมื่อเริ่มเป็นดักแด้มีสีน้ำตาลอ่อนและค่อยเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลเข้มขึ้นเมื่ออายุมากขึ้น ระยะดักแด้ประมาณ 7-9 วัน ตัวเต็มวัย เป็นด้วงปีกแข็งลำตัวแบนกว้าง สีน้ำตาลแดง ขนาดเล็กประมาณ 2.0-3.0 มิลลิเมตร หนวดสั้นเป็นแบบกระบองมีสันเป็นแนวยาวบนปีกคู่หน้า ฐานของอกปล้องแรกอยู่ติดกับโคนปีกคู่หน้า ตัวเต็มวัยเพศเมียวางไข่ตามรอยแตกของเมล็ด หรือรอยแตกของเปลือกหุ้มเมล็ด วางไข่เป็นกลุ่ม กลุ่มละ 3-14 ฟอง ตัวเต็มวัยเพศเมีย 1 ตัว วางไข่ได้ประมาณ 100 ฟอง ระยะตัวเต็มวัยประมาณ 15-191 วัน เมื่อเลี้ยงที่อุณหภูมิ 20-35 ºC และความชื้นสัมพัทธ์ 75% วงจรชีวิตจากระยะไข่ถึงระยะตัวเต็มวัยประมาณ 42-50 วัน อุปนิสัย ตัวเต็มวัยไม่บิน และสามารถทนทานต่อสภาวะที่แห้งแล้งได้ดีกว่าแมลงศัตรูผลิตผลเกษตรชนิดอื่น ๆ
การแพร่กระจายและฤดูการระบาด
การแพร่กระจาย เขตร้อนชื้น ฤดูการระบาด ตั้งแต่เดือนสิงหาคมเป็นต้นไป และพบมากในเดือนธันวาคม
พืชอาหาร
ข้าวเปลือก เมล็ดของพืชตระกูลถั่ว เช่น ถั่วเขียว ถั่วลิสง ถั่วพุ่ม ถั่วแขก แป้งที่ทำจากถั่ว ข้าวสาร และผลิตภัณฑ์ข้าว ข้าวโพด ลูกเดือย งา มักกะโรนี ฝักโกโก้ มันสำปะหลัง มันเทศ และเมล็ดฝ้าย
กำจัดด้วยศัตรูธรรมชาติ
–
-*-*-*-*-
ที่มา : PDF แมลงที่พบในผลิตผลเกษตร และการป้องกันกำจัด โดย กองวิจัยและพัฒนาวิชาการหลักการเก็บเกี่ยว และแปรรูปผลิตผลเกษตร – กรมวิชาการเกษตร