มอดหนวดยาว (Flat grain beetle) แมลงศัตรูของเมล็ดพืช และผลิตผลเกษตร
ชื่ออื่น ๆ : มอดตัวแบน, Rust red grain beetle, Minute grain beetle, Beetle, Biscuit beetle
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Cis chinensis Lawrence (Coleoptera : Ciidae)
ความสำคัญและลักษณะการทำลาย
มอดหนวดยาวพบทั่วไปในยุ้งข้าว โรงสี และโรงเก็บเมล็ดพืช ทำลายผลิตผลเกษตรทุกชนิดแป้ง รวมถึงผลไม้แห้ง ลักษณะการทำลาย ตัวเต็มวัยและตัวหนอนร่วมกันทำลายข้าวเปลือกเมล็ดแตก หรือข้าวที่เหลือจากการทำลายของแมลงชนิดอื่น ตัวหนอนกินส่วนที่เป็นจุดงอก (germ) ของเมล็ด บางครั้งพบหนอนทำลายซากแมลงชนิดอื่น แต่ในข้าวสารสามารถกัดกินเมล็ดที่ดีหรือเมล็ดเต็มได้โดยไม่ต้องกะเทาะให้เมล็ดนั้นแตก โดยปกติพบมอดหนวดยาวทั่วไปบนพื้นของโรงสียุ้งฉางหรือในกระสอบข้าวเปลือก และมักพบเมื่อมีการทำลายของมอดข้าวเปลือกมาก
รูปร่างลักษณะ ชีวประวัติ และอุปนิสัย
ไข่ มีลักษณะเรียวยาว สีขาวโปร่งแสง บนพื้นผิวของเปลือกไข่มีลักษณะเรียบ โดยมีเศษแป้งและเศษของอาหารเกาะติดเคลือบอยู่บนเปลือกไข่ ระยะไข่ประมาณ 3-4 วัน หนอน เมื่อฟักออกจากไข่มีขนาดลำตัวยาว สีขาวโปร่งแสง ส่วนปลายลำตัวมีหางคล้ายเขา เมื่อหนอนโตเต็มที่จะรวบรวมเศษเมล็ดพืชหรือเศษอาหารเข้าด้วยกันและเข้าดักแด้อยู่ภายในนั้น ระยะตัวหนอนประมาณ 22 วัน ดักแด้ เมื่อเริ่มเป็นดักแด้มีสีขาวและค่อย ๆ เปลี่ยนเป็นสีเข้มเมื่ออายุมากขึ้น ตัวเต็มวัย ขนาดลำตัวเล็กมาก ประมาณ 1.6-2.5 มิลลิเมตร ลำตัวแบนรีสีน้ำตาลแดง หัวและอกรวมกันยาวครึ่งหนึ่งของลำตัว หนวดเป็นแบบลูกปัด (moniliform) ยาวประมาณสองในสามของลำตัว ตัวเต็มวัยเพศเมียวางไข่ได้ประมาณ 200-300 ฟอง ที่อุณหภูมิ 37 ºC ระยะตัวเต็มวัยประมาณ 6-12 เดือน ที่อุณหภูมิ 33 ºC และความชื้นสัมพัทธ์ 70% ระยะการเจริญเติบโตจากไข่ถึงตัวเต็มวัยใช้เวลาประมาณ 23 วัน แมลงชนิดนี้ไม่สามารถที่จะอยู่ในที่ความชื้นสัมพัทธ์ต่ำได้ โดยที่ความชื้นสัมพัทธ์ 50% เปอร์เซ็นต์การตายของแมลงจะสูง มอดหนวดยาว C. pusillus และ C. ferrugineus มีการเจริญเติบโตดีที่สุด ที่อุณหภูมิ 33 ºC และความชื้นสัมพัทธ์ 80% โดยมีวงจรชีวิตประมาณ 27-30 วัน ส่วนอุณหภูมิและความชื้นสัมพัทธ์ที่เหมาะสมสำหรับการเจริญเติบโตของ C. pusillus คือ อุณหภูมิ 30 ºC และความชื้นสัมพัทธ์ 90% อุปนิสัย ตัวเต็มวัยเป็นแมลงที่ว่องไวแต่มักจะไม่บิน
การแพร่กระจายและฤดูการระบาด
การแพร่กระจาย ประเทศแถบร้อน ประเทศสหรัฐอเมริกา และอินเดีย ฤดูการระบาด ตลอดทั้งปี
พืชอาหาร
ข้าวเปลือกที่แตกหัก เมล็ดธัญพืช พืชที่ให้น้ำมัน เมล็ดโกโก้ และเมล็ดถั่วพุ่ม
กำจัดด้วยศัตรูธรรมชาติ
แตนเบียน ได้แก่ Theocolax elegans (Westwood) และ Cephalonomia waterstoni Gahan
ตัวห้ำ ได้แก่ Palorus shikhae Sarup
-*-*-*-*-*-
ที่มา : PDF แมลงที่พบในผลิตผลเกษตร และการป้องกันกำจัด โดย กองวิจัยและพัฒนาวิชาการหลักการเก็บเกี่ยว และแปรรูปผลิตผลเกษตร – กรมวิชาการเกษตร