ด้วงหนอนนก (Yellow mealworm) แมลงศัตรูของเมล็ดพืช และผลิตผลเกษตร
ชื่ออื่น ๆ : European mealworm, mealworm beetle
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Tenebrio molitor Linnaeus (Coleoptera : Tenebrionidae)
ความสำคัญและลักษณะการทำลาย
ด้วงหนอนนกเป็นแมลงศัตรูที่มีขนาดลำตัวใหญ่ที่สุดในกลุ่มของแมลงศัตรูผลิตผลเกษตร นำเข้าจากประเทศยุโรปเพื่อเลี้ยงเป็นอาหารของนกและสัตว์ปีกของกรมป่าไม้ ทำลายเมล็ดพืชหรือแป้งที่สกปรกหรือมีราขึ้น นอกจากนี้ ยังทำลายรำ ขนมปัง ข้าวสาลีที่เก็บในยุ้งฉาง ผลิตภัณฑ์จากธัญพืช และซากแมลงลักษณะการทำลาย แมลงชนิดนี้ไม่ทำลายผลผลิตเกษตรโดยตรง ตัวหนอนมักชอบทำลายเมล็ดที่แตกมาก่อนแล้ว โดยอาศัยกัดกินในที่มืดและอับชื้น
รูปร่างลักษณะ ชีวประวัติ และอุปนิสัย
ไข่ มีสีขาวขุ่นขนาดเล็ก รูปร่างเรียวยาวคล้ายเมล็ดถั่ว ผิวเรียบ มักวางไข่ติดตามพื้นภาชนะและมีเศษอาหารปกคลุม ระยะไข่ 7 วัน หนอน เมื่อฟักออกจากไข่ใหม่ ๆ มีสีขาวขนาดเล็ก เมื่อมีอายุมากขึ้นเริ่มเปลี่ยนเป็นสีเหลืองและสีน้ำตาลตามลำดับ ลำตัวมีลักษณะกลม เรียวยาว ผิวมันและลื่น มีข้อปล้อง มีขา 3 คู่ หนอนมีการลอกคราบ 8-13 ครั้ง ระยะหนอนประมาณ 90 วัน ดักแด้ มีลักษณะหัวโต และเรียวเล็กลงไปทางหาง เมื่อเริ่มเป็นดักแด้มีสีขาว ลำตัวเหยียดตรง หลังจากนั้นเริ่มงอตัวทางด้านท้องแล้วเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลอ่อน จนกระทั่งมีสีที่เข้มขึ้น ระยะดักแด้ประมาณ 7 วัน ตัวเต็มวัย เมื่อออกจากดักแด้ใหม่ ๆ ลำตัวมีสีขาว ต่อมาสีค่อย ๆ เข้มขึ้น เริ่มจากสีเหลืองอ่อน สีน้ำตาลอ่อน สีน้ำตาลเข้ม จนกระทั่งเป็นสีดำ ปีกมันวาวลำตัวแบน ขนาดลำตัวยาว 12.0-16.0 มิลลิเมตร ตัวเต็มวัยเริ่มผสมพันธุ์เมื่ออายุ 6-7 วัน หลังจากนั้น 3-4 วัน เริ่มวางไข่ ตัวเต็มวัยเพศเมียวางไข่ประมาณ 77-576 ฟอง ตัวเต็มวัยมีอายุประมาณ 60-90 วัน อุณหภูมิและความชื้นสัมพัทธ์ที่เหมาะสมสำหรับการเจริญเติบโตของด้วงหนอนนก คือ อุณหภูมิ 25 ºC และความชื้นสัมพัทธ์ 75% ระยะเจริญเติบโตจากระยะไข่ถึงระยะตัวเต็มวัยประมาณ 90 วัน อุปนิสัย เจริญเติบโตได้ดีในสภาพอากาศเย็นและมีความชื้นสูง แต่สามารถปรับตัวให้เข้ากับสภาพอากาศของประเทศไทยได้ และสามารถบินได้ในบริเวณที่มืด
การแพร่กระจายและฤดูการระบาด
การแพร่กระจาย มีถิ่นกำเนิดในทวีปยุโรป พบมากในเขตอบอุ่นและเขตหนาว
พืชอาหาร
เมล็ดแตก ผลิตภัณฑ์จากธัญพืช และซากแมลง
กำจัดด้วยศัตรูธรรมชาติ
ตัวห้ำ ได้แก่ Amphibolus venator (Klug), Arma custos Fabricius, Brontocoris tabidus (Signoret), Camponotus maculatus Fabricius, Dysdera crocata Koch, Formica polyctena Förster, Podisus connexivus Bergroth, Podisus nigrispinus (Dallas), Podisus maculiventris (Say), Supputius cincticeps Stål, Tenebroides mauritanicus (Linnaeus) และ Tynacantha marginata Dallas
เชื้อ ได้แก่ Heterorhabditis bacteriophora (Poinar)
-*-*-*-*-
ที่มา : PDF แมลงที่พบในผลิตผลเกษตร และการป้องกันกำจัด โดย กองวิจัยและพัฒนาวิชาการหลักการเก็บเกี่ยว และแปรรูปผลิตผลเกษตร – กรมวิชาการเกษตร