ด้วงดำ (Lesser mealworm) แมลงศัตรูของเมล็ดพืช และผลิตผลเกษตร

แชร์ - ส่งบทความให้เพื่อน

ด้วงดำ (Lesser mealworm) แมลงศัตรูของเมล็ดพืช และผลิตผลเกษตร

ชื่ออื่น ๆ : ด้วงขี้ไก่
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Alphitobius diaperinus (Panzer) (Coleoptera : Tenebrionidae)

ความสำคัญและลักษณะการทำลาย
เป็นแมลงศัตรูของผลิตภัณฑ์จากธัญพืชและผลิตภัณฑ์จากสัตว์ โดยเฉพาะอาหารที่มีความชื้นหรือมีเชื้อราถ้ามีการเก็บรักษาอาหารที่ไม่ดี แมลงชนิดนี้จัดเป็น minor pest คือ ไม่สร้างความเสียหายมากนักแต่จะเป็นปัญหามากสำหรับฟาร์มสัตว์ปีก เพราะแมลงชนิดนี้อาจเป็นพาหะแพร่เชื้อโรคบางชนิด ลักษณะการทำลาย ชอบทำลายเมล็ดที่แตกหัก

ด้วงดำ (Lesser mealworm)

รูปร่างลักษณะ ชีวประวัติ และอุปนิสัย
ไข่ มีสีขาวครีมอมน้ำตาล ลักษณะไข่หัวท้ายโค้งมนเล็กน้อย ระยะไข่ประมาณ 4-7 วัน หนอน มีลำตัวยาวแบน (campodeiform) มีขาจริง หนวด และแพนหางเจริญดี เคลื่อนไหวเร็ว มีสีเหลือง อมน้ำตาลคล้ายหนอนนก ดักแด้ มีสีครีมอมน้ำตาล ตัวเต็มวัย มีลักษณะทั่วไปคล้ายหนอนนก แต่มีขนาดเล็กกว่าขนาดลำตัวยาว 5.0-7.0 มิลลิเมตร ลำตัวสีดำหรือน้ำตาลเข้มเป็นมัน ด้วงดำ A. diaperinus มีลักษณะทั่วไปคล้าย ด้วงดำกินรา A. laevigatus มาก หากดูด้วยกล้องจุลทรรศน์จะพบว่าตัวเต็มวัยด้วงดำ A. diaperinus มีส่วนของขอบหัวที่แบ่งตาออกเป็น 2 ส่วนไม่เท่ากัน ตัวเต็มวัยเพศเมียสามารถวางไข่ได้มากกว่า 2,000 ฟอง ตัวเต็มวัยอาจมีอายุมากกว่า 12 เดือน อุณหภูมิและความชื้นสัมพัทธ์ที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโต คือ อุณหภูมิ 33 ºC และความชื้นสัมพัทธ์ 95% ถ้าเลี้ยงที่อุณหภูมิ 25 ºC มีวงจรชีวิตจากระยะไข่ถึงระยะตัวเต็มวัยประมาณ 75 วัน แต่ที่อุณหภูมิ 30 ºC มีวงจรชีวิตจากระยะไข่ถึงระยะตัวเต็มวัยประมาณ 50-100 วัน

ภาพ – วงจรชีวิตด้วงดำ Alphitobius diaperinus (Panzer)

การแพร่กระจายและฤดูการระบาด
การแพร่กระจาย พบได้ทั่วโลก โดยเฉพาะในเขตร้อนและเขตร้อนชื้น

พืชอาหาร
เมล็ดถั่ว เมล็ดที่แตกหัก ผลิตภัณฑ์จากธัญพืช และผลิตภัณฑ์จากสัตว์

กำจัดด้วยศัตรูธรรมชาติ
ตัวห้ำ ได้แก่ Amphibolus venator (Klug)

ตัวเบียน ได้แก่ ไร Acarophenax mahunkai Steinkraus & Cross

เชื้อ ได้แก่ Heterorhabditis bacteriophora (Poinar) และ Heterorhabditis heliothidis (Khan, Brooks & Hirschmann)

-*-*-*-*-

ที่มา : PDF แมลงที่พบในผลิตผลเกษตร และการป้องกันกำจัด โดย กองวิจัยและพัฒนาวิชาการหลักการเก็บเกี่ยว และแปรรูปผลิตผลเกษตร – กรมวิชาการเกษตร


แชร์ - ส่งบทความให้เพื่อน
อ่าน :  แทบไม่น่าเชื่อ หนุ่มเปลี่ยน 'ที่ดินแห้งแล้ง​' กลายเป็นพื้นที่สีเขียวภายใน 1 ปี

เรื่องที่เกี่ยวข้อง