ด้วงงวงมะขาม (Tamarind seed borer) แมลงศัตรูของเมล็ดพืช และผลิตผลเกษตร
ชื่ออื่น ๆ : Tamarind weevil
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Sitophilus linearis Herbst (Coleoptera : Curculionidae)
ความสำคัญและลักษณะการทำลาย
เป็นแมลงศัตรูที่สำคัญของมะขามหลังการเก็บเกี่ยว ลักษณะการทำลาย หนอนอาศัยกัดกินอยู่ภายในเมล็ด ตัวเต็มวัยจะเจาะออกมาสู่ภายนอกเมล็ดทำให้เกิดรูที่เนื้อมะขาม นอกจากนี้ มูลหนอนที่ขับถ่ายออกมาสามารถปนเปื้อนกับเนื้อมะขามทำให้มะขามสกปรก ไม่สามารถนำมาบริโภคได้
รูปร่างลักษณะ ชีวประวัติ และอุปนิสัย
ไข่ ฟักเป็นตัวหนอนภายใน 3-6 วัน หนอน มีลักษณะลำตัวสั้นป้อมสีขาว ไม่มีขา อาศัยกัดกินอยู่ภายในเมล็ด โดยลอกคราบ 4 ครั้ง ระยะหนอนประมาณ 20-25 วัน ดักแด้ ระยะดักแด้ประมาณ 6-7 วัน เมื่อดักแด้ฟักเป็นตัวเต็มวัยอาศัยอยู่ภายในเมล็ดระยะหนึ่ง รอจนผิวและปีกแข็งแรง จึงเจาะออกมาสู่ภายนอกเมล็ด ตัวเต็มวัย ด้วงงวงมะขามมีรูปร่างคล้ายด้วงงวงข้าวโพด มีลักษณะที่แตกต่างกันเล็กน้อย คือ มีขนาดลำตัวใหญ่และแข็งแรงกว่า ลักษณะของงวงสั้นกว่า หลุมเล็ก ๆ บริเวณ prothorax มีลักษณะละเอียดกว่า อกดูเรียบและแวววาวกว่า ส่วนปีกของด้วงงวงมะขามมีสีอ่อนกว่าด้วงงวงข้าวโพด คือ มีสีเหลืองอมส้ม โดยมีแถบสีอ่อนพาดยาวตลอดปีก ตัวเต็มวัยเพศเมียเจาะเข้าไปภายในฝักมะขาม จากนั้นเจาะเมล็ดมะขามให้เป็นโพรง ภายในโพรงด้วงงวงเจาะรูเพื่อทำการวางไข่ฟองเดี่ยว ๆ โดยในหนึ่งโพรงจะวางไข่ 4-16 ฟอง เมื่อวางไข่แล้วทำการปิดปากรูด้วยไข วงจรชีวิตจากระยะไข่จนถึงระยะตัวเต็มวัยประมาณ 5 สัปดาห์ ในมะขามหนึ่งเมล็ดพบด้วงงวงสูงสุดถึง 34 ตัว
ภาพ – วงจรชีวิตด้วงงวงมะขาม Sitophilus linearis Herbst
การแพร่กระจายและฤดูการระบาด
การแพร่กระจาย เขตร้อนและเขตอบอุ่น มีรายงานพบในทวีปอเมริกา เมดิเตอร์เรเนียน แอฟริกา ออสเตรเลีย และเอเชีย ฤดูการระบาด พบได้ตลอดทั้งปี
พืชอาหาร
มะขาม
กำจัดด้วยศัตรูธรรมชาติ
แตนเบียน ได้แก่ Theocolax elegans (Westwood)
-*-*-*-*-
ที่มา : PDF แมลงที่พบในผลิตผลเกษตร และการป้องกันกำจัด โดย กองวิจัยและพัฒนาวิชาการหลักการเก็บเกี่ยว และแปรรูปผลิตผลเกษตร – กรมวิชาการเกษตร