ด้วงถั่วแดง (Bean Weevil) แมลงศัตรูของเมล็ดพืช และผลิตผลเกษตร
ชื่ออื่น ๆ : Bean bruchid, Dried bean beetle, American seed beetle, Dried bean weevil, Bean beetle, Common bean weevil
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Acanthoscelides obtectus (Say) (Coleoptera : Bruchidae)
ความสำคัญและลักษณะการทำลาย
เป็นแมลงศัตรูที่สำคัญที่สุดของเมล็ดถั่วแดงหลวง (Kidney bean) ซึ่งด้วงถั่วชนิดอื่นไม่สามารถเข้าทำลายได้ ลักษณะการทำลาย ตัวเต็มวัยเพศเมียบินเข้าสู่ไร่ถั่วและวางไข่บนฝักถั่วที่แก่เต็มที่ รวมถึงฝักแห้งในแปลง ตัวหนอนเจาะผ่านเปลือกหุ้มฝักและเปลือกหุ้มเมล็ดเข้าสู่ใบเลี้ยงภายในเมล็ด ในทวีปอเมริกาพบด้วงถั่วแดงประมาณ 250-350 ชนิด ชนิดที่สำคัญ คือ A. obtectus ส่วน A. zeteki Kingsolver เป็นแมลงศัตรูที่สำคัญที่สุดของถั่วพีเจียน (pigeon pea)
รูปร่างลักษณะ ชีวประวัติ และอุปนิสัย
ไข่ มีลักษณะยาวรีสีขาวนวล หนอน เมื่อฟักเป็นตัวหนอนเจาะเข้าสู่เมล็ดและกัดทำลายภายในเมล็ดหนอนมีสีขาว ลำตัวโค้งงอคล้ายรูปตัว C ดักแด้ เมื่อใกล้เข้าดักแด้ หนอนจะทำทางออกสำหรับตัวเต็มวัยโดยกินเปลือกหุ้มเมล็ดซึ่งเป็นเยื่อบาง ๆ คล้ายหน้าต่างแล้วจึงเข้าดักแด้ เมื่อเป็นตัวเต็มวัยจะกัดเปลือกเมล็ดถั่วตรงหน้าต่างออกสู่ภายนอกเมล็ด ตัวเต็มวัย ขนาดลำตัวประมาณ 3.0-4.5 มิลลิเมตร มีสีเทาอมน้ำตาลและน้ำตาลแดง ไม่มีลวดลาย ลำตัวเรียวแคบไปทางส่วนหัว หัวเล็กงุ้มเข้าหาส่วนอก ขนที่ปกคลุมส่วนอกและปีกคู่แรกมีสีเหลืองอมเทา มีจุดประกระจัดกระจายสีน้ำตาลเข้ม โคนขาหลัง (hind femur) ตรงสันด้านในใกล้ข้อต่อมีฟันขนาดใหญ่ 1 ซี่ และฟันขนาดเล็กแหลม 2-3 ซี่ เมื่อมองทางด้านข้างปลายสุดส่วนท้องของเพศเมียยื่นเลยปลายปีกออกไปมากกว่าเพศผู้ ตัวเต็มวัยเพศเมียวางไข่ประมาณ 100-200 ฟอง โดยวางกระจัดกระจายตรงช่องว่างระหว่างเมล็ดหรือรอยแตกที่ผิวเมล็ด ตัวเต็มวัยมีอายุสั้นประมาณ 7-14 วัน อุณหภูมิและความชื้นสัมพัทธ์ที่เหมาะสมสำหรับการเจริญเติบโต คือ อุณหภูมิ 30 ºC และความชื้นสัมพัทธ์ 70% ช่วงนี้ระยะการเจริญเติบโตของด้วงถั่วแดงสั้นที่สุดคือ 22.5 วัน ด้วงถั่วแดงสามารถดำรงชีวิตอยู่ในที่ที่มีอุณหภูมิต่ำกว่า 14 ºC อุปนิสัย ตัวเต็มวัยไม่ทำลายเมล็ดถั่ว แต่กินเกสรของพืชชนิดต่าง ๆ
การแพร่กระจายและฤดูการระบาด
การแพร่กระจาย มีถิ่นกำเนิดในทวีปอเมริกาใต้ แต่ระบาดมากในเขตอบอุ่นและเขตร้อน ยกเว้นประเทศออสเตรเลีย ส่วนทางตอนใต้และตะวันตกเฉียงใต้ของทวีปเอเชียพบเพียงเล็กน้อย เนื่องจากบริเวณนี้ไม่นิยมปลูกถั่วแดงหลวง
พืชอาหาร
ถั่วแดงหลวง ถั่วเขียว ถั่วพุ่ม ถั่วไลมา และถั่วฝักยาว
กำจัดด้วยศัตรูธรรมชาติ
แตนเบียน ได้แก่ Anisopteromalus calandrae (Howard), Eupelmus cushmani (Crawford), Pteromalus cerealellae (Ashmead), Stenocorse bruchivora (Crawford), Theocolax elegans (Westwood) และ Triaspis thoracicus Curtis
-*-*-*-*-
ที่มา : PDF แมลงที่พบในผลิตผลเกษตร และการป้องกันกำจัด โดย กองวิจัยและพัฒนาวิชาการหลักการเก็บเกี่ยว และแปรรูปผลิตผลเกษตร – กรมวิชาการเกษตร