ด้วงถั่วเขียว (Cowpea weevil) แมลงศัตรูของเมล็ดพืช และผลิตผลเกษตร

แชร์ - ส่งบทความให้เพื่อน

ด้วงถั่วเขียว (Cowpea weevil) แมลงศัตรูของเมล็ดพืช และผลิตผลเกษตร

ชื่ออื่น ๆ : ด้วงเจาะเมล็ดถั่ว, Pulse beetle, Spotted cowpea bruchid, Cowpea seed beetle, Four-spotted bean weevil, Southern cowpea weevil
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Callosobruchus maculatus (Fabricius) (Coleoptera : Bruchidae)
ชื่อเดิม : Bruchus quadrimaculatus

ความสำคัญและลักษณะการทำลาย
เป็นแมลงศัตรูที่สำคัญที่สุดของเมล็ดพืชตระกูลถั่ว ตัวเต็มวัยบินได้ดี บางครั้งพบเข้าทำลายตั้งแต่ในไร่ ลักษณะการทำลาย ด้วงถั่วเขียวเข้าทำลายฝักถั่วในระยะที่ถั่วเริ่มโตเต็มที่ สำหรับฝักที่แห้งการเข้าทำลายจะลดลง เมล็ดที่ถูกทำลายลักษณะสังเกต คือ มีไข่สีขาวติดอยู่ที่ผิวและรูกลม ๆ อย่างน้อย 1 รู ที่เมล็ดซึ่งเกิดจากตัวเต็มวัยเจาะออกมา เนื้อภายในเมล็ดที่ถูกตัวหนอนกัดกินจนเหลือแต่เปลือกใช้ทำประโยชน์ต่อไปไม่ได้

ด้วงถั่วเขียว (Cowpea weevil)

รูปร่างลักษณะ ชีวประวัติ และอุปนิสัย
ไข่ มีลักษณะสีขาวใสลักษณะคล้ายโดม คือ ด้านบนโค้งด้านล่างเรียบ ระยะไข่ประมาณ 5-6 วัน โดยการเจาะผิวเมล็ดถั่วทางด้านที่ไข่สัมผัสเมล็ด หนอน เจริญเติบโตอาศัยและกัดกินภายในเมล็ด ระยะหนอนประมาณ 13-20 วัน มีการลอกคราบ 3 ครั้ง ดักแด้ เข้าดักแด้ภายในเมล็ด ระยะดักแด้ประมาณ 3-7 วัน เมื่อดักแด้ฟักเป็นตัวเต็มวัยแล้วจึงเจาะเมล็ดออกสู่ภายนอกเพื่อผสมพันธุ์และวางไข่ต่อไป ตัวเต็มวัยสีน้ำตาล ขนาดลำตัวประมาณ 2.0-3.5 มิลลิเมตร ปีกสั้นคลุมไม่มิดลำตัว และมีแถบหรือจุดสีน้ำตาลเข้มบนปีกทั้งสองข้าง ปลายปีกมีสีดำ ลำตัวเรียวแคบไปทางส่วนหัว ทำให้หัวเล็กและงุ้มเข้าหาส่วนอก หนวดเป็นแบบกึ่งฟันเลื่อย (subserrate) ตัวเต็มวัยเพศเมียชอบวางไข่ติดผิวเมล็ดถั่วที่มีความราบเรียบมากกว่าเมล็ดที่ขรุขระ โดยวางไข่ 1 ฟองต่อ 1 เมล็ด ตลอดชีวิตสามารถวางไข่ได้ 115 ฟอง ระยะตัวเต็มวัยประมาณ 3-12 วัน อุณหภูมิและความชื้นสัมพัทธ์ที่เหมาะสำหรับการเจริญเติบโต คือ อุณหภูมิ 32 ºC และความชื้นสัมพัทธ์ 90% วงจรชีวิตจากระยะไข่จนถึงระยะตัวเต็มวัยประมาณ 19-33 วัน

ภาพ – วงจรชีวิตด้วงถั่วเขียว Callosobruchus maculatus (Fabricius)

การแพร่กระจายและฤดูการระบาด
การแพร่กระจาย มีถิ่นกำเนิดอยู่ในทวีปแอฟริกา และแพร่กระจายไปทั่วโลก แต่ทำความเสียหายมากในประเทศแถบร้อนและกึ่งร้อน ฤดูการระบาด ตลอดปี

พืชอาหาร
เมล็ดถั่วทุกชนิด เช่น ถั่วเขียว ถั่วดำ ถั่วพุ่ม ถั่วฝักยาว ถั่วแดง ถั่วนิ้วนางแดง ยกเว้นถั่วเหลือง

กำจัดด้วยศัตรูธรรมชาติ
แตนเบียน ได้แก่ Uscana mukerjii (Mani), Anisopteromalus calandrae (Howard), Dinamus acutus Thomson, Dinamus basalis (Rondani), Dinamus vagabundus (Timberlake), Heterospilus prosopidis Viereck, Pteromalus cerealellae (Ashmead), Theocolax elegans (Westwood) และ Lariophagus distinguendus (Förster)

ไรตัวห้ำ ได้แก่ Cheyletus eruditus (Taurrus) และ Pyemotes tritici (Lagrèze-Fossat & Montané)

-*-*-*-*-

ที่มา : PDF แมลงที่พบในผลิตผลเกษตร และการป้องกันกำจัด โดย กองวิจัยและพัฒนาวิชาการหลักการเก็บเกี่ยว และแปรรูปผลิตผลเกษตร – กรมวิชาการเกษตร


แชร์ - ส่งบทความให้เพื่อน
อ่าน :  ตัวห้ำ มวนดำก้นลาย Amphibolus venator (Klug) แมลงศัตรูธรรมชาติ ของแมลงศัตรูพืช

เรื่องที่เกี่ยวข้อง