Site icon เกษตร นานา Kaset NaNa

ด้วงผลไม้แห้ง (ด้วงปีดตัด) (Dried fruit beetle) แมลงศัตรูของเมล็ดพืช และผลิตผลเกษตร

ด้วงผลไม้แห้ง (ด้วงปีดตัด) (Dried fruit beetle)

แชร์ - ส่งบทความให้เพื่อน

ด้วงผลไม้แห้ง (ด้วงปีดตัด) (Dried fruit beetle) แมลงศัตรูของเมล็ดพืช และผลิตผลเกษตร

ชื่ออื่น ๆ : ด้วงปีกตัด, Corn sap beetle
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Carpophilus hemipterus (Linnaeus) (Coleoptera : Nitidulidae)

ความสำคัญและลักษณะการทำลาย
เป็นแมลงศัตรูที่สำคัญสำหรับอุตสาหกรรมผลไม้แห้ง และเมล็ดพืช ลักษณะการทำลาย ทั้งตัวเต็มวัย และตัวหนอนร่วมกันทำลายผลไม้แห้ง และธัญพืชที่ขึ้นรา ระยะหนอนทำลายมากกว่าระยะตัวเต็มวัย โดยทำลายให้เป็นรูหรือเป็นรอย ชอบผลไม้ที่สุกงอมหรือจวนเน่า เมื่อมีแมลงชนิดนี้เข้าทำลายมักพบเชื้อราและแบคทีเรียเกิดขึ้นด้วย ก่อให้เกิดความเสียหายโดยตรง สำหรับเมล็ดพืชที่ตากแห้งหรือมีความชื้นต่ำจะไม่ถูกทำลายโดยด้วงชนิดนี้

ด้วงผลไม้แห้ง (ด้วงปีดตัด) (Dried fruit beetle)

รูปร่างลักษณะ ชีวประวัติ และอุปนิสัย
ไข่ มีลักษณะยาวรี สีขาวระยะไข่ประมาณ 2-3 วัน หนอน ลำตัวแบนยาว มีขาสั้น ๆ 3 คู่ ปลายลำตัวมีหางเล็กยื่นไปทางส่วนท้าย ระยะหนอน 6-14 วัน ดักแด้ เข้าดักแด้ในดิน ระยะดักแด้ประมาณ 5-11 วัน ตัวเต็มวัย เป็นด้วงปีกแข็ง ลำตัวยาวประมาณ 2.0-5.0 มิลลิเมตร มีสีน้ำตาลดำ ปีกคู่หน้าสั้นไม่คลุมส่วนท้องทำให้เห็นปลายท้อง 2-3 ปล้องสุดท้ายชัดเจน ปีกคู่หน้าสีน้ำตาล มักมีจุดสีเหลืองจาง ๆ ที่มุมขอบบนและปลายปีกเป็นแถบสีเหลือง หนวดและขามีสีเหลือง หนวดประกอบด้วย 11 ปล้อง ปลายหนวดเป็นรูปกระบองประกอบด้วยปล้องสั้น ๆ 3 ปล้อง ระยะตัวเต็มวัยมีชีวิตประมาณ 3-12 เดือน ตัวเต็มวัยเพศเมียวางไข่ประมาณ 1,000 ฟอง อุณหภูมิที่เหมาะสมสำหรับการเจริญเติบโต คือ 25-30 ºC วงจรชีวิตจากระยะไข่ถึงระยะตัวเต็มวัยประมาณ 45 วัน อุปนิสัย ตัวเต็มวัยสามารถบินได้ในระยะทางไกล

ภาพ – วงจรชีวิตด้วงผลไม้แห้ง Carpophilus hemipterus (Linnaeus)

การแพร่กระจายและฤดูการระบาด
การแพร่กระจาย พบทั่วโลก

พืชอาหาร
ผลไม้แห้ง เมล็ดปาล์ม มะพร้าวแห้ง โกโก้ ข้าว มะม่วงหิมพานต์ ข้าวโพด และถั่วลิสง

กำจัดด้วยศัตรูธรรมชาติ
แตนเบียน ได้แก่ Cerchysiella insularis (Howard), Cerchysiella utilis (Noyes) และ Microtonus nitidulidis Loan

ตัวห้ำ ได้แก่ Belonuchus rufipennis (Fabricius) และ Xenopygus analis (Erichson)

-*-*-*-*-

ที่มา : PDF แมลงที่พบในผลิตผลเกษตร และการป้องกันกำจัด โดย กองวิจัยและพัฒนาวิชาการหลักการเก็บเกี่ยว และแปรรูปผลิตผลเกษตร – กรมวิชาการเกษตร


แชร์ - ส่งบทความให้เพื่อน
Exit mobile version