ด้วงงวงข้าว (Rice weevil) แมลงศัตรูของเมล็ดพืช และผลิตผลเกษตร

แชร์ - ส่งบทความให้เพื่อน

ด้วงงวงข้าว (Rice weevil) แมลงศัตรูของเมล็ดพืช และผลิตผลเกษตร

ชื่ออื่น ๆ : มอดข้าวสาร, Black weevil, Lesser grain weevil
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Sitophilus oryzae L. (Coleoptera : Curculionidae)
ชื่อเดิม : Calandra oryzae L., Sitophilus oryza L.

ความสำคัญและลักษณะการทำลาย
เป็นแมลงศัตรูที่สำคัญของผลิตผลเกษตร สามารถทำลายเมล็ดธัญพืชได้หลายชนิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้าวเปลือก ข้าวสาลี และเมล็ดธัญพืชขนาดเล็กชนิดต่าง ๆ แต่ไม่ทำลายแป้ง เพราะตัวหนอนไม่สามารถเจริญเติบโตในแป้งได้ ลักษณะการทำลาย ตัวเต็มวัยไม่สามารถทำลายข้าวเปลือกเมล็ดสมบูรณ์ได้แต่สามารถทำลายข้าวเปลือกเมล็ดแตกหักได้ ทั้งตัวเต็มวัยและตัวหนอนร่วมกันทำลายเมล็ดพืชโดยหนอนกัดกินเมล็ดและเจริญเติบโตอยู่ภายในเมล็ดจนกระทั่งเป็นตัวเต็มวัย เมล็ดที่ถูกทำลายมีลักษณะกลวง ข้างในเป็นโพรง เมื่อแกะเมล็ดออกดูเห็นว่ามีแต่แกลบเท่านั้นที่เหลืออยู่ นำไปใช้บริโภคไม่ได้

ด้วงงวงข้าว (Rice weevil)

รูปร่างลักษณะ ชีวประวัติ และอุปนิสัย
รูปร่างและลักษณะภายนอกต่าง ๆ เหมือนด้วงงวงข้าวโพดทุกประการ แต่มีสีอ่อนกว่าและขนาดเล็กกว่าเล็กน้อย จากลักษณะภายนอกไม่สามารถจำแนกความแตกต่างของด้วงงวงทั้งสองชนิดได้ นอกจากการผ่าดูอวัยวะสืบพันธุ์ของตัวเต็มวัยเพศผู้ จึงจะเห็นความแตกต่างได้ โดยอวัยวะสืบพันธุ์ของเพศผู้ด้วงงวงข้าวจะเรียบส่วนด้วงงวงข้าวโพดมีร่องเป็นแนวยาวจำนวน 3 ร่อง ไข่ มีขนาดเล็กมากไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าไข่มีลักษณะรี สีขาว ระยะไข่ประมาณ 3-6 วัน หนอน แรกเกิดมีสีขาว อ้วน ไม่มีขา หนอนลอกคราบ 4 ครั้ง ระยะหนอนประมาณ 25 วัน ดักแด้ มีสีขาวในระยะแรกและเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลในระยะต่อมา ระยะดักแด้ประมาณ 5-7 วัน ตัวเต็มวัย สีน้ำตาลแดงถึงดำ บนปีกคู่หน้ามีจุดสี่จุดสีแดงอ่อน หรือสีเหลือง ขนาดลำตัวประมาณ 2.0-3.0 มิลลิเมตร ตัวเต็มวัยเพศเมียวางไข่ได้สูงสุดประมาณ 150 ฟอง ระยะตัวเต็มวัยประมาณ 1-12 เดือน อุณหภูมิและความชื้นสัมพัทธ์ที่เหมาะสมสำหรับการเจริญเติบโต คือ อุณหภูมิ 25-30 ºC และความชื้นสัมพัทธ์ 84% วงจรชีวิตจากระยะไข่ถึงระยะตัวเต็มวัยประมาณ 30-40 วัน อุปนิสัย ตัวเต็มวัยชอบซ่อนตัวอยู่ในกองเมล็ดพืช มักไต่ขึ้นสู่ผิวบนของกองข้าวเปลือกเมื่อถูกรบกวน

ภาพ – วงจรชีวิตด้วงงวงข้าว Sitophilus oryzae Linnaeus

การแพร่กระจายและฤดูการระบาด
การแพร่กระจาย แพร่กระจายอยู่ทั่วโลกในเขตอบอุ่นและเขตร้อนชื้น โดยเฉพาะแถบเอเชีย และแอฟริกา นอกจากนี้ อาจพบได้ในสภาพอากาศที่หนาวจัด ฤดูการระบาด ระบาดตลอดปี

พืชอาหาร
ข้าว ข้าวโพด ข้าวฟ่าง ข้าวสาลี ข้าวโอ๊ต ข้าวบาร์เลย์ มันสำปะหลัง ลูกเดือย และเมล็ดถั่ว ได้แก่ ถั่วลูกไก่ ถั่วเลนทิล ถั่วลันเตา ถั่วอะซูกิ ถั่วเขียว และถั่วพุ่ม

กำจัดด้วยศัตรูธรรมชาติ
แตนเบียน ได้แก่ Cerocephala dinoderi Gahan, Anisopteromalus calandrae (Howard), Pteromalus cerealellae (Ashmead) และ Theocolax elegans (Westwood)

ตัวห้ำ ได้แก่ Acaropsellina docta (Berlese), Carcinops troglodytes (Erichson) และ Tenebroides mauritanicus (Linnaeus)

-*-*-*-*-

ที่มา : PDF แมลงที่พบในผลิตผลเกษตร และการป้องกันกำจัด โดย กองวิจัยและพัฒนาวิชาการหลักการเก็บเกี่ยว และแปรรูปผลิตผลเกษตร – กรมวิชาการเกษตร


แชร์ - ส่งบทความให้เพื่อน
อ่าน :  ต้นเล็บครุฑลังกา ภาชนะใส่อาหารจากธรรมชาติ ลดขยะ ลดโลกร้อน

เรื่องที่เกี่ยวข้อง