มาทำความรู้จัก “วานิลลา” ที่ จันทบุรี พืชเศรษฐกิจน่าปลูก (กิโลละ 2 หมื่น ปี 2565)

แชร์ - ส่งบทความให้เพื่อน

มาทำความรู้จัก “วานิลลา” ที่ จันทบุรี พืชเศรษฐกิจน่าปลูก (กิโลละ 2 หมื่น ปี 2565)

“วานิลลา” เป็นพืชตระกูลกล้วยไม้ (Orchidaceae) ต้นเป็นเถาเลื้อย มีดอกเป็นช่อ เป็นพืชประเภทเครื่องเทศที่มีการใช้ประโยชน์โดยการนำมาหมัก และบ่มให้เกิดกลิ่นนำไปสกัดสารที่ให้กลิ่นและรสธาตินำมาปรุงแต่งรสอาหาร โดยเฉพาะไอศกรีม ช็อกโกแลต ขนมหวาน และลูกกวาด นอกจากนี้ยังนำไปใช้ในอุตสาหกรรมยา และน้ำหอม

ชาวสเปนเป็นผู้นำวานิลลาเข้าไปในยุโรปในราวปี พ.ศ. 2224 เพื่อทำช็อกโกแลต คำว่า “วานิลลา” มาจากภาษาสเปนว่า “ไบย์นียา (Vainilla) แปลว่าฝักเล็กๆ จากนั้นมีการนำวานิลลาเข้าไปในประเทศอังกฤษ ฝรั่งเศส และอินโนนีเซีย ในราวปี พ.ศ. 2368 และปลูกในตาฮิติ ในปี พ.ศ. 2391 จากนั้นวานิลลาก็กลายเป็นพืชปลูกของหลายประเทศ เช่น มาดากัสการ์ เม็กซิโก ตาฮิติ อินเดีย ศรีลังกา และอินโดนีเซีย

สำหรับประเทศไทยไม่มีหลังฐานแน่ชัดว่าใครเป็นผู้นาวานิลลาเข้ามาปลูก สันนิษฐานว่าได้พันธุ์มาจากอินโดนีเซีย และนำมาปลูกไว้ที่สถานีทดลองพืชสวนพลิ้ว (ปัจจุบันคือศูนย์วิจัยพืชสวนจันทบุรี) ยังพบว่าการปลูกไว้ที่คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อปี พ.ศ. 2521 โดยปลูกให้เลื้อยเกาะเป็นร่มเงาในเรือนเพาะชำ วานิลลาเริ่มปลูกและได้ผลครั้งแรกที่ศูนย์วิจัยพืชสวนชุมพร ในปี พ.ศ. 2534 และมูลนิธิโครงการหลวงได้ทดลองปลูกวานิลลาในเชิงการค้าในปี พ.ศ. 2545 โดยสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ผลผลิตที่ได้นำมาบ่มและจำหน่ายเป็นสินค้าในนามมูลนิธิโครงการหลวงจนถึงปัจจุบัน

วานิลลามีพันธุ์มากกว่า 200 พันธุ์ สำหรับประเทศไทยมีวานิลลาพันธุ์พื้นเมืองขึ้นกระจายอยู่ 5 ชนิด คือ

  • V. Siamensis Rolfe ex Downie (พลูช้าง หรือ ตองผา)
  • V. Albida Blume (เอาะลบ)
  • V. Borneensis Rolfe (สามร้อยต่อใหญ่หรืองด)
  • V. Aphylla Blume (เถางูเขียว)
  • V.Griffithii Rchb (เถากล้วยไม้)

สวนชนิดที่นิยมนำมาปลูกเพื่อเป็นการค้ามีอยู่ 3 ชนิด คือ

  1. V. Planifolia Andrews ได้รับความนิยมนำมาปลูกเป็นการค้ามากที่สุด
  2. V. Pompona Schiede (วานิลลอน) ปลูกในอเมริกากลางต้านทานโรคเน่าได้ดีกว่าทุกพันธุ์
  3. V. Tahitensis J.W. Moore (วานิลลาตาฮิติ)

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

วานิลลา เป็นพืชเถาเลื้อยอายุการให้ผลผลิตหลายปี เถาจะเลื้อยพันไปบนค้างหรือไม้ยืนต้นอื่นๆ โดยธรรมชาติจะอาศัยรากเป็นตัวยึดเกาะ

ลำต้น : มีลักษณะเป็นเถายาวสีเขียว ทรงกระบอก อวบน้ำ ขนาดของลำต้นขึ้นอยู่กับความสมบูรณ์ของเถา เมื่อโค้งงอจะหักง่าย ในธรรมชาติอาจเจริญเติบโตได้สูงถึง 10-15 เมตร มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 1-2 เซนติเมตร ปล้องความยาว 5-15 เซนติเมตร ลำต้นมีการแตกแขนงบ้างเล็กน้อย มีปากใบทำให้สามารถสังเคราะห์แสงได้ สำหรับการปลูกในเชิงการค้านิยมจัดเถาให้มีความสูงพอเหมาะเพื่อความสะดวกในการผสมเกสร และการเก็บเกี่ยว

ใบ : มีลักษณะแบบ อวบน้ำ รูปไข่ ปลายแหลม (Oblong-Elliptic) จนถึงรูปหอก (Lanceolate) ปลายใบแหลม โคนใบค่อนข้างกลม ใบกว้าง 2-8 เซนติเมตร ความยาวใบ 8-25 เซนติเมตร เส้นใบขนาดเส้นกลางใบก้านใบสั้น และมีร่องด้านบนใบ

ราก : ระบบรากมี 2 ประเภท คือ รากอากาศ หรือ รากยึดเกาะ เป็นรากเดี่ยวเจริญออกจากลำต้นบริเวณด้านตรงข้ามกับใบ สีขาวอวบน้ำ ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 2 มิลลิเมตร ทำหน้าที่ยึดเกาะ และรากบริเวณโคนต้นจะอยู่บริเวณผิวดินในส่วนที่มีอินทรีย์วัตถุสูงใช้อาหาร

ช่อดอก : เกิดจากตาซอกใบ เป็นช่อมักไม่แตกกิ่งสาขา ยาวผระมาณ 5-8 เซนติเมตร ไม่มีก้านช่อดอกย่อยมีดอก 4-15 ดอก ต่อช่อ ดอกไม่เป็นที่ดึงดูดของแมลงจึงจำเป็นต้องช่วยผสมเกสร มิเช่นนั้นจะไม่ติดฝัก ดอกจะบานตอนเช้าเวลาที่พร้อมจะผสมเกสร คือระหว่าง 08.00-10.00 น. ถ้ามีผู้ที่มีความชำนาญจะประสบความสำเร็จในการผสม 80-95% ภายหลังผสมติดแล้วรังไข่จะเจริญอย่างรวดเร็ว

ดอก : สีเหลืองอมเขียว กลีบอกหนา ดอกมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 10 เซนติเมตร ก้านดอกสั้นหรือแทบไม่มี กลีบเลี้ยงมี 3 กลีบ รูปร่างยาวรี ขนาดกว้าง 1.3 เซนติเมตร ยาว 5.5 เซนติเมตร กลีบดอกมี 3 กลีบ สองกลีบด้านบนมีลักษณะคล้ายกลีบเลี้ยง อีกกลีบหนึ่งเปลี่ยนเป็นรูปปากแตรจะมีกลีบดอกสั้นกว่ากลีบดอกอื่น ปลายปากแตรแยกเป็น 3 ส่วน และขอบหยักไม่สม่ำเสมอ มีเกสรตัวผู้ 1 อัน ประกอบด้วย อับละอองเกสรตัวผู้อยู่ 2 อัน ส่วนของเกสรตัวผู้และเกสรตัวเมียจะแยกออกจากกันโดยมีเยื้อบ้างๆ กั้นอยู่ เรียกว่า โรสเทลลั่ม (Rosetellum) เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ละอองเกสรตัวผู้ไม่สามารถถ่ายลงไปผสมกับเกสรตัวเมียได้

ฝัก : ลักษณะคล้ายทรงกระบอกแคบ โป่งตรงปลายฝัก มี 3 มุม ความยาวฝัก 9.5-14.5 เซนติเมตร ความกว้าง 1.2-1.4 เซนติเมตร การเจริญเติบโตของฝักวานิลลาจะเป็นไปอย่างรวดเร็วภายใน 2 สัปดาห์ หลังจากผสมติดจากนั้นการเจริญเติบโตจะค่อนค่างคงที่ ภายในแบ่งเป็น 3 ช่อง ด้สนในมีเมล็ดสีดำอยู่จำนวนมาก เมื่อฝักแก่จะแตกตามความยาวฝัก

* * * * *

ที่มา : ศูนย์วิจัยพืชสวนจันทรบุรี สถาบันวิจัยพืชสวน กรมวิชาการเกษตร
โทร : 039-397-030, 039-397-146
โทรสาร : 039-397-236

อ่าน :  แตนเบียน สายพันธุ์ Notaspidiella clavata Narendran & Konishi แมลงศัตรูธรรมชาติ ของแมลงศัตรูพืช


แชร์ - ส่งบทความให้เพื่อน

เรื่องที่เกี่ยวข้อง