Site icon เกษตร นานา Kaset NaNa

สร้างโรงเรือนปลูกผัก แบบไหนดี

แชร์ - ส่งบทความให้เพื่อน

สร้างโรงเรือนปลูกผัก แบบไหนดี

สภาพภูมิอากาศที่แปรปรวนและเริ่มรุนแรงขึ้นในปัจจุบัน ส่งผลกระทบต่อการปลูกพืช อย่างเช่น ในฤดูฝน ซึ่งมักจะตามมาด้วยสภาพฟ้าปิด คือ มีเมฆมากจนไม่มีแสงให้พืชได้สร้างอาหารเพื่อเจริญเติบโต หรือหลังฝนตกแล้วมีแดดเปรี้ยง! ก็จะนำมาซึ่งอาการผิดปกติของพืช หรือพืชอ่อนแอจนมีโรค-แมลงเข้าทำลายซ้ำ ในขณะที่พอถึงฤดูแล้ง ก็มีแมลงเข้าทำลาย จนไม่สามารถเก็บเกี่ยวผลิตผลได้ ฯลฯ

“โรงเรือน” จึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการลงทุน เพื่อลดหรือป้องกันปัญหาดังกล่าว ซึ่งรูปแบบของโรงเรือนก็มีให้เลือกหลากหลายแบบ ขึ้นอยู่กับเงินทุนและชนิดพืชที่ปลูกของเกษตรกร ในพื้นที่ที่ผู้เขียนทำงานร่วมกับเกษตรกร จะมีการทำโรงเรือนต้นทุนไม่สูงมากนักใน 2 รูปแบบหลักๆ คือ 1) โรงเรือนหน้ากว้าง 6 เมตร (โรงเรือนขนาดใหญ่) และ 2) โรงเรือนหน้ากว้าง 3 เมตร (โรงเรือนขนาดเล็ก) โดยความยาวขึ้นอยู่กับสภาพของพื้นที่ ซึ่งโดยทั่วไปความยาวจะเริ่มที่ 24 เมตร ขึ้นไป โดยมีระยะห่างระหว่างเสา 3 เมตรโรงเรือนขนาดใหญ่จะสามารถแบ่งเป็นแปลงย่อยได้ 4 แปลง ส่วนโรงเรือนขนาดเล็กจะได้ 2 แปลง

ส่วนประกอบของโรงเรือน ซึ่งมี 3 ส่วนหลัก ดังนี้
พลาสติกสำหรับมุงหลังคา ถือเป็นปัจจัยสำคัญ โดยมีขนาดตั้งแต่ 3 เมตร ถึง 6 เมตร มีอายุการใช้งานเฉลี่ยประมาณ 3 ปี ดังนั้นเมื่อใช้งานไปสักระยะ ก็ต้องสำรวจโครงสร้างต่างๆ เพื่อเปลี่ยนหรือปรับปรุงพร้อมกับที่ต้องเปลี่ยนพลาสติกมุงหลังคา ยกเว้นในกรณีที่มีพายุลมแรง หรือมีลูกเห็บก็อาจจะต้องเปลี่ยนหรือปรับปรุงโรงเรือนเร็วกว่าที่คาดไว้ ในส่วนของสายรัดพลาสติกจะช่วยรัด/คาด/พาด พลาสติกมุงหลังคาไม่ให้กระพือไปตามแรงลม แต่ถ้าพื้นที่ไหนลมไม่แรงก็อาจไม่จำเป็นต้องใช้

ส่วนของโครงสร้าง ในช่วงแรกแนะนำว่า ควรเริ่มจากทรัพยากรที่มีในพื้นที่ก่อน เช่น ไม้ไผ่ ไม้ยูคาลิปตัส ฯลฯ เมื่อปลูกพืชพอจะมีกำไรแล้วจึงค่อยขยับขยายเป็นโรงเรือนกึ่งถาวร เช่น เหล็ก หรือ เสาปูน ต่อไป (แต่ถ้าใครพอจะมีเงินทุนก็สามารถทำโรงเรือนกึ่งถาวรได้เลย)

มุ้งตาข่าย จุดประสงค์หลักของการมีมุ้งตาข่าย คือ เพื่อป้องกันแมลง ดังนั้นการเลือกใช้มุ้งตาข่ายขึ้นอยู่กับว่าต้องการป้องกันแมลงอะไร ปลูกพืชอะไร และมีสภาพแวดล้อมอย่างไร (ความสูงจากระดับ น้ำทะเล อากาศเย็นหรือร้อน ฯลฯ) สิ่งสำคัญจะอยู่ที่ความถี่หรือจำนวนช่องต่อตารางนิ้ว หรือที่เรียกว่า เมช (mesh) หรือที่เรียกกันง่ายๆ ว่า ตา เช่น มีขนาด 32 ตา (ช่องต่อตารางนิ้ว) ซึ่งโดยทั่วไปมีขนาดตั้งแต่ 16, 20, 24, 32, 40 ตา ยิ่งมีตาถี่มากเท่าไหร่ก็จะทำให้ภายในโรงเรือนร้อน/อบอ้าวกว่าภายนอกโรงเรือน (อุณหภูมิและความชื้น) และมีหน้ากว้างให้เลือกหลายขนาด ถ้าเป็นโรงเรือนใหญ่ แนะนำให้ใช้หน้ากว้างตั้งแต่ 3 เมตรขึ้นไป

ถึงแม้…มุ้งตาข่ายจะช่วยป้องกันแมลงส่วนใหญ่ได้ แต่ก็ยังมีแมลงขนาดเล็ก เช่น เพลี้ยไฟ ไร เพลี้ยอ่อน ด้วงหมัดผัก ฯลฯ ที่ยังสามารถเล็ดรอดเข้าไปได้ ซึ่งก็ต้องใช้หลายๆ วิธีช่วยในการป้องกันกำจัด เช่น การใช้กับดักกาวเหนียว น้ำหมักสมุนไพรไล่แมลง หรือแม้กระทั่งสารเคมีที่จำเป็น (กรณีที่ไม่ใช่เกษตรอินทรีย์) ฯลฯ ด้วย

ที่มา : สวพส.


แชร์ - ส่งบทความให้เพื่อน
Exit mobile version