จีน ยื่นขอจด “Rice-Fish Culture” เป็นมรดกเกษตรโลก เลี้ยงปลาในนาข้าว

แชร์ - ส่งบทความให้เพื่อน

จีน ยื่นขอจด “Rice-Fish Culture” เป็นมรดกเกษตรโลก เลี้ยงปลาในนาข้าว

จีนยื่นขอจด “Rice-Fish Culture” เป็นมรดกเกษตรโลก (The Globally Important Agricultural Heritage Systems – GIAHS) ต่อองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาติ มาตั้งแต่ปี 2005

โดยการเลี้ยงปลาในนาข้าวของจีนไม่ใช่เป็นเพียงระบบเกษตรเท่านั้น แต่เป็นวัฒนธรรมที่สืบทอดมานานนับ 2,000 ปี โดยมีการขุดพบกระเบื้องดินเผาในสุสานของราชวงศ์ฮั่นตอนกลาง แสดงให้เห็นแผนผังปลาว่ายจากบ่อลงในนาข้าว

ระบบการเลี้ยงปลาในนาข้าวเป็นระบบเกษตรผสมผสานที่่สมบูรณ์แบบในอุดมคติ ปลาให้ปุ๋ยแก่ข้าว ควบคุมภูมิอากาศย่อยในระบบนิเวศ การแหวกว่ายของปลาช่วยเพิ่มออกซิเจน พรวนดิน กำจัดตัวอ่อนของแมลงศัตรูพืชและวัชพืช ถ่ายออกมาเป็นปุ๋ย ในขณะที่ข้าวให้ร่มเงาและสร้างอาหารให้ปลา การใช้ปุ๋ยและสารเคมีกำจัดศัตรูพืชแทบเป็นศูนย์ แต่ได้อาหารที่มีคุณภาพและคุณค่าสูง

การศึกษาของ FAO ในประเทศจีนพบว่า แทนที่ผลผลิตข้าวจะลดลงแต่กลับเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 10% ในขณะที่ผลผลิตข้าวที่เลี้ยงปลาในนาข้าวของอินโดนีเซียเพิ่มขึ้น 10-20% ไม่รวมผลผลิตจากปลา 192-260 กิโลกรัม/ไร่

ในบริบทของประเทศไทย ระบบเกษตรที่เรียบง่ายแต่แฝงความสัมพันธ์ทางนิเวศวิทยาที่ซับซ้อนนี้ แฝงความมหัศจรรย์ไว้หลายประการ

1) การเลี้ยงปลาในนาข้าวในเขตน้ำน้อย เป็นอุบายในการสร้างสระเก็บน้ำและระบบชลประทานในระดับไร่นา ซึ่งเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพของพื้นที่เกษตรในนาน้ำฝน ในขณะเดียวกันก็เหมาะกับในพื้นที่น้ำท่วม หรือพื้นที่ชลประทานที่จะสามารถใช้ประโยชน์จากน้ำในการเลี้ยงปลาไปพร้อมกับการทำนา

2) เป็นรูปแบบที่ตอบสนองต่ออาหารขั้นพื้นฐาน คือคาร์โบไฮเดรตจากข้าว โปรตีนจากปลา และได้พืชผักต่างๆเป็นผลพลอยได้จากระบบนิเวศนาที่อุดสมบูรณ์ไปพร้อมกัน

3) เป็นระบบการผลิตที่ปลอดภัยจากสารเคมีกำจัดศัตรูพืชทั้งในฐานะเกษตรกรที่เป็นผู้ผลิต และผู้บริโภคที่ไม่เสี่ยงจากสารเคมีตกค้างในอาหาร

4) ได้ผลผลิตทั้งข้าวและปลาในพื้นที่นาแปลงเดียวกัน มิหนำซ้ำผลผลิตจากข้าวยังเพิ่มขึ้นด้วย

5) ยืดหยุ่นต่อภาวะผันผวนของราคาสินค้าเกษตร เช่น เมื่อราคาข้าวตกต่ำ ก็ได้รายได้จากปลาแทน หรือบางกรณีเกษตรบางรายอาจเปลี่ยนข้าวเปลือกจากนาเป็นอาหารให้ปลาไปเลยก็ได้

6) การเลี้ยงปลาในนาข้าวยังเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนารูปแบบเกษตรกรรมผสมผสานอื่นๆได้ด้วยในอนาคต เช่น การพัฒนาบางส่วนเป็นสวนยกร่อง ปลูกไม้ผล เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ระบบเกษตรกรรมเช่นนี้ต้องมีการใช้แรงงานเพิ่มขึ้น ลงทุนเพิ่มขึ้น หรือต้องปรับเปลี่ยนพื้นที่เกษตร เป็นต้น

งบประมาณด้านชลประทานมหาศาลปีละหลายหมื่นล้าน หากสามารถปรับเปลี่ยนเพื่อสร้างระบบการเก็บกักน้ำในเขตนาน้ำฝน หรือการจัดการพื้นที่และระบบชลประทานเพื่อให้เหมาะสมกับการเลี้ยงปลาในนาข้าว แทนที่จะมุ่งสร้างแหล่งเก็บน้ำและชลประทานขนาดใหญ่เพื่อตอบสนองต่อการผลิตเชิงเดี่ยวดังที่เป็นอยู่ ระบบเกษตรกรรมของประเทศไทยอาจปรับเปลี่ยนไปสู่ระบบเกษตรกรรมที่ยั่งยืนได้มากกว่านี้


แชร์ - ส่งบทความให้เพื่อน
อ่าน :  19/20 เราจะประยุกต์ใช้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในสังคมแต่ละระดับ อาทิ ระดับปัจเจกบุคคล ระดับชุมชน และระดับรัฐ ได้อย่างไร - นานา คำถาม ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

เรื่องที่เกี่ยวข้อง