สารพัน ไม้ รักษ์ สิ่งแวดล้อม

แชร์ - ส่งบทความให้เพื่อน

สารพัน ไม้ รักษ์ สิ่งแวดล้อม

ในปัจจุบัน พื้นที่สูง กำลังเผชิญกับปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่สำคัญ ไม่ว่าจะเป็น ดินเสื่อมโทรม สารพิษปนเปื้อนในดินและแหล่งน้ำธรรมชาติ หมอกควัน พื้นที่ป่าและความหลากหลายทางชีวภาพของพรรณพืชลดลง รวมถึงภัยธรรมชาติ เช่น ภัยแล้ง ดินถล่ม น้ำป่าไหลหลาก สาเหตุส่วนใหญ่มาจากกิจกรรมมนุษย์ที่ใช้ทรัพยากรธรรมชาติเกินพอดี ซึ่งปัญหาเหล่านี้ได้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อการดำรงอยู่และการมีคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน

เพราะสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องที่เราจำเป็นต้องใส่ใจ
แม้เป็นวิกฤติ…แต่ก็ไม่สายไปที่จะแก้ หากทุกคนร่วมมือกัน
วิธีที่ง่ายที่สุดในการป้องกัน บรรเทา แก้ไขปัญหาและฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม คือ การปลูก “ต้นไม้”

ต้นไม้ แม้เพียงหนึ่งต้น ให้ประโยชน์มากมายหลากหลายประการ ไม่ว่าจะเป็น
1. ดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ได้เฉลี่ย 9 – 15 กิโลกรัม/ปี

2. ดักจับฝุ่นและมลพิษในอากาศ ได้ 1.4 กิโลกรัม/ปี

3. ดูดซับความร้อนจากบรรยากาศและลดอุณหภูมิรอบบ้านลงได้ 2-4 °C

4. สามารถปล่อยก๊าซออกซิเจน (O2) ได้ถึง 200,000 – 250,000 ลิตร/ปี ซึ่งรองรับความต้องการก๊าซออกซิเจน ของมนุษย์ได้ถึง 2 คน/ปี

5. ดูดซับก๊าซที่เป็นพิษต่อร่ายกายมนุษย์ และสิ่งแวดล้อม เช่น คาร์บอนมอนอกไซด์ (CO) ก๊าซชัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2) และก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ (NO2) เป็นต้น

6. เป็นแหล่งที่อยู่อาศัย อาหาร และยารักษาโรค และเป็นส่วนหนึ่งในระบบนิเวศ

7. รากต้นไม้ช่วยยึดดิน ดูดซับน้ำและแร่ธาตุ ช่วยป้องกันการพังทลายจากดินถล่ม รวมถึงการกักเก็บน้ำไว้บริเวณผิวดิน

” ตามมาดูกันว่า….. มีพรรณไม้หรือพรรณพืช ชนิดไหนบ้าง ที่มีประสิทธิภาพในการช่วยฟื้นฟูและเสริมสร้างสภาวะแวดล้อมทางธรรมชาติ
ดักจับฝุ่น”

ลักษณะของพรรณไม้ที่ช่วยดักจับฝุ่น และช่วยกรองอากาศ ควรเป็น
• ไม้ยืนต้นหรือไม้พุ่มที่ใบมีลักษณะเรียวเล็ก มีผิวหยาบหรือมีขนและเหนียว จะมีประสิทธิภาพมากกว่าผิวเรียบมัน

• ต้นไม้ที่ไม่ผลัดใบจะมีประสิทธิภาพดีกว่าไม้ผลัดใบ

• พืชที่มีผิวใบโดยรวมมากกว่าจะสามารถดักจับฝุ่นละอองได้มากกว่าพืชที่มีผิวใบน้อย ดังนั้น ต้นไม้ใหญ่และไม้พุ่มที่มีใบขนาดเล็กจำนวนมากจึงมีประสิทธิภาพในการดักจับฝุ่นละอองสูงกว่าต้นไม้ที่มีใบขนาดใหญ่

ได้แก่ ไผ่รวก พฤกษ์ ขี้เหล็กเลือด ปอกระสา ตะลิงปลิง โมกหลวง โมกมัน สกุลชงโค ขี้เหล็กบ้าน ตะแบก อินทนิล เสลา จามจุรี ประดู่ กัลปพฤกษ์ สัก แคแสด ชมพูพันธุ์ทิพย์พังแหร

ดูดซับสารพิษในดิน
• แฝก ช่วยดูดซับแคดเมียม โดยส่วนที่สะสม ได้แก่ รากและลำต้น
• กล้วยน้ำว้า ช่วยดูดซับสารหนู โดยส่วนที่สะสม ได้แก่ ราก ลำต้นและใบ

บําบัดนํ้าเสีย
การบำบัดน้ำเสียด้วยระบบพืชกรองน้ำเสีย อาศัยหลักการใช้ดินเป็นตัวกรองของเสีย และจุลินทรีย์ในดินทำหน้าที่เป็นตัวย่อยของเสีย โดยของเสียที่ย่อยแล้วพืชจะเป็นตัวดูดเอาไปใช้ในการเติบโต ทำให้ของเสียเปลี่ยนเป็นมวลชีวภาพ น้ำเสียที่ผ่านระบบจะมีคุณภาพดีและสามารถระบายสู่แหล่งน้ำธรรมชาติได้ได้แก่ เหงือกปลาหมอ เตยหอม ว่านน้ำ

ยึดดิน
– การเลือกพืชยึดดินเพื่อป้องกันการกัดเซาะและดินถล่ม ควรพิจารณาทั้งความสามารถในการยึดดิน ได้แก่ กำลังดึงของรากพืชและความหนาแน่นของราก ร่วมกับแนวพระราชดำริการปลูกป่าสามอย่างประโยชน์สี่อย่าง

– พรรณไม้ที่มีแรงดึงรากสูงที่สุด เช่น อโวคาโด ตะไคร้ต้น จันทร์ทองเทศ กาแฟ แฝก

– พรรณไม้ที่มีแรงดึงรากระดับกลาง เช่น การบูร ตองแตบ ส้มผด กำลังเสือโคร่ง แคฝรั่ง มะขาม และกระท่อมหมู

– พรรณไม้ที่มีแรงดึงรากระดับต่ำ แต่มีความหนาแน่นของรากมาก เช่น ถั่วมะแฮะ ราชาวดีป่า

กันลม
ลักษณะของพรรณไม้ที่ปลูกเป็นแนวกันลม ควรเป็นต้นไม้ที่ไม่ผลัดใบ มีเรือนรากลึก มีเรือนยอดหนาแน่น มีความยืดหยุนของลำต้น มีความสูงเพียงพอ กิ่งไม่เปราะและไม่ทิ้งกิ่งง่าย สามารถนำไปใช้ประโยชน์อย่างอื่นได้นอกเหนือจากใช้เป็นแนวกันลม ได้แก่ ไผ่ กระถินณรงค์ กระถินเทพา สะเดาไทย สะเดาอินเดีย ขี้เหล็กบ้าน มะขาม มะขามเทศ ข่อย ฝาง

โดยทิศทางที่จะปลูกเป็นแนวกันลมนี้ควรตรวจดูให้แน่ใจว่าอยู่ในแนวขวางกับทิศทางที่ลมพัดผ่านเป็นประจำ

windbreak (วินด์เบรค) แนวปะทะลม
shelterbelt (เชลเตอร์เบลท์) แนวคุ้มกันลม

ประโยชน์ของไม้บังลม
– ช่วยให้พืชประธาน เช่น ไม้ผลต่างๆ มีการเจริญเติบโต ให้ผลผลิต และคุณภาพของผลผลิตดีขึ้น เนื่องจากไม่ถูกกระแสลมพัด ทำให้ทรงพุ่มโยก รากคลอน และความชื้นในดินคงอยู่ ไม่สูญเสียไป เพราะถูกลมเป่า อุณหภูมิภายในสวนสม่ำเสมอ
– แมลงช่วยผสมเกสร เช่น ผึ้ง มิ้ม จะทำงานได้ดีขึ้น ทำให้ไม้ผล เช่น ลิ้นจี่ ลำไย มะม่วง อโวคาโด แมกคาเดเมีย ติดผลดีหากภาวะลมสงบนิ่ง
– ความเสียหายจากการกัดกร่อนของดินผิวหน้าจะลดลงมากหากปลูกไม้บังร่มหลายแถวในสวน
– ทำให้การฉีดพ่นสารป้องกันกำจัดศัตรูพืช ทำได้โดยไม่สูญเสียละอองยา ซึ่งอาจโดน ลมพัด เช่นเดียวกับการฉีดพ่นปุ๋ยทางใบทนไฟ

ลักษณะของพรรณไม้-พรรณพืช ที่ต้านทานหรือทนทานต่อไฟ
มีเปลือกไม้ที่หนาเป็นฉนวนป้องกันเนื้อเยื่อเจริญจากความร้อนและการถูกทำลายได้ ได้แก่ เต็ง รัง เหียง พลวง รกฟ้า ตะแบกเลือด แดง ประดู่ป่า มะกอก งิ้ว

อ่าน :  วิธีทำแอร์แว เพื่อช่วยเพิ่มแรงดันน้ำ ส่งน้ำไปได้ไกลขึ้น

มีกาบใบหรือฐานใบที่หนา แข็งและมีความชื้นสูง ซึ่งจะช่วยห่อหุ้มปกป้องตาพืชที่อยู่ตรงปลายลำต้น ไว้ให้พ้นอันตรายจากไฟป่า ได้แก่ กล้วยป่า ต๋าว ค้อ หวาย ลิงลาว เตยหอม ปรง

แม้ลำต้นส่วนบนของต้นไม้จะถูกไฟลวก แต่รากก็มีชีวิตอยู่ได้ใต้ดิน เป็นเหง้ามีเนื้อไม้แข็ง ซึ่งมีตาอยู่มากมาย จะสร้างหน่อกลายเป็นลำต้นใหม่ได้อีก ได้แก่ สัก ปีบ รัง เหียง เติม เพกามะเดื่อใบใหญ่ มณฑาแดง มะยาง

รากและลำต้นใต้ดิน เนื่องจากดินเป็นฉนวนที่ดี ตาใต้ดินจึงได้รับการปกป้องอย่างดี พืชสามารถอยู่รอดได้โดยการแตกหน่อจากลำต้นใต้ดิน หรือหัวที่มีลักษณะเป็นหัวแบบมันฝรั่งหรือหัวแบบเผือก เช่น พืชวงศ์ขิง พืชวงศ์บุกบอน

ทนน้ำท่วม
พรรณไม้ที่มีระบบรากทนต่อการถูกแช่น้ำ ยึดเกาะตลิ่งได้ดีและช่วยชะลอความเร็วของน้ำ ได้แก่ สนุ่น ตะเคียนทอง ยางนา กระทุ่ม ก้านเหลือง ตาเสือ กุ่มน้ำ มะตาด จิกนา เต่าร้าง มะเดื่ออุทุมพรไคร้น้ำ ไคร้ย้อย เติม สมพง ลำพูป่า ยมหอม พระเจ้าห้าพระองค์ มะเนียงน้ำ หว้า ไผ่

ที่มา : สวพส.
เขียน / เรียบเรียงเรื่องโดย : นางสาวกมลทิพย์ เรารัตน์


แชร์ - ส่งบทความให้เพื่อน

เรื่องที่เกี่ยวข้อง