เผยเคล็ดลับ!! การเพาะต้นอ่อนผักบุ้ง แบบละเอียด

แชร์ - ส่งบทความให้เพื่อน

เผยเคล็ดลับ!! การเพาะต้นอ่อนผักบุ้ง แบบละเอียด

เรื่องราวของ คุณ ดิเรก ขำคง วัย 46 ปี ชาวราชบุรี ที่ภรรยาป่วยเป็นภูมิแพ้ทั้งอากาศและอาหารจึงต้องดูแลอย่างใกล้ชิด ทำให้ตัดสินใจลาออกจากจากการเป็นวิศวกรไฟฟ้า ประกอบกับเบื่อหน่ายความเป็นมนุษย์เงินเดือน เลยหันเหชีวิตมาเป็นเกษตรกร คิดหาวิธีการที่จะทำให้ภรรยาสามารถบริโภคอาหารที่ปลอดภัย

เริ่มต้น คุณ ดิเรก ได้ลองปลูกพืชหลายชนิดทาน จนได้ลองทานต้นอ่อนผักบุ้ง ก็พบว่าไม่มีผลข้างเคียง แถมติดใจในรสชาติ จึงตัดสินใจปลูกต้นอ่อนผักบุ้งไว้รับประทาน ในระยะแรก ต้นอ่อนผักบุ้งที่ปลูกมีลักษณะ ไม่สมบูรณ์ หงิกงอ ขึ้นรา เสียหายเป็นจำนวนมาก

จึงลองผิดลองถูกอยู่นานถึง 2 ปี จนสามารถผลิตต้นอ่อนผักบุ้งที่น่ารับประทานได้สำเร็จ ได้นำไปแจกจ่ายเพื่อนบ้าน เครือญาติ และ คนรู้จัก จนกลายเป็นที่ต้องการของลูกค้า ทำให้เป็นอาชีพทำเงินได้เป็นอย่างดี

คุณ ดิเรก ได้เผยเคล็ดลับวิธีการเพาะต้นอ่อนผักบุ้งอินทรีย์ชนิดไม่มีปิดบัง โดยจะเริ่มตั้งแต่การเตรียมดิน ให้ใช้ดินผสมขุยไผ่ป่า ขี้เถ้าแกลบ และ ขุยมะพร้าว

ในส่วนขั้นตอนของการเพาะเมล็ด จะใช้เมล็ดผักบุ้งพันธุ์เรียวไผ่จากแปลงปลูกแบบอินทรีย์ นำมาแช่น้ำอุ่น 12 ชั่วโมง แล้วร่อนตะแกรงคัดเมล็ดที่บวมน้ำมาหว่านลงบนถาดเพาะกล้า ที่มีการโรยดินเตรียมเอาไว้ก่อนหน้านี้

โดยจะหว่านเมล็ดให้เต็มพื้นที่ถาด รดน้ำพอหมาด แล้วนำกระสอบพลาสติกมาวางปิดด้านบน ทับด้วยถาดเพาะชุดอื่นซ้อนกัน เพื่อบ่มเมล็ดให้รากที่งอกออกมาม้วนลงดินได้เร็วขึ้น เป็นเวลา 2 วัน จากนั้น นำถาดเพาะเข้าห้องทึบแสง ที่มีอากาศถ่ายเทได้ดี เป็นระยะเวลา 3 วัน ต้นอ่อนที่ได้จะงอกยาวตั้งตรง แล้วจึงนำมาตั้งไว้ที่มีแสงแดดส่องถึงอีก 2 วัน เพื่อให้ใบของต้นผักบุ้งอ่อนสร้างคลอโรฟิลล์ เปลี่ยนเป็นสีเขียวสด สวยงาม เท่านี้ก็สามารถทำการเก็บเกี่ยวผลผลิตได้

ในส่วนของการดูแลรดน้ำ จะรดในช่วงเช้า กลางวันและเย็น ให้ดินเปียกพอหมาด ด้านโรคสำคัญที่จะเกิดขึ้นบ่อยกับต้นอ่อนผักบุ้ง คือ โรคเชื้อรา และ โรคโคนเน่า ซึ่งสามารถแก้ไขได้ด้วยวิธีผสมเชื้อไตรโคเดอม่าในดิน ผสมในน้ำอุ่นที่แช่เมล็ด และใช้ผสมน้ำรดในระหว่างการเจริญเติบโต

สำหรับวิธีการตัดต้นอ่อนนั้น จะต้องใช้มีดโกน เนื่องจากจะช่วยทำให้รอยตัดไม่ช้ำและดำง่าย โดยจะตัดขึ้นเหนือโคนต้นมาประมาณ 1 เซนติเมตร แล้วนำไปล้างยางออกด้วยน้ำเปล่าทันที หากปล่อยทิ้งไว้นาน ยางของต้นผักบุ้งจะกลายเป็นสีดำ ทำให้ดูไม่น่ารับประทาน ทั้งนี้ ควรเก็บต้นอ่อนผักบุ้งไว้ในตู้เย็น เพราะจะช่วยทำให้คงความสดและกรอบได้นานถึง 7 วัน

คุณ ณัฐปภัสร์ (ภรรยา) กล่าวเสริมว่าด้านการตลาด ปัจจุบันมีการส่งขายตามร้านอาหาร ตลาดนัดสุขภาพทั้งในจังหวัดราชบุรี นครปฐม และกรุงเทพ และโซเชียลมีเดีย เฟสบุ๊คชื่อ “วิสาหกิจชุมชนต้นอ่อนผักบุ้ง กุ้งก้ามแดงบ้านพระพร” ซึ่งในแต่ละเดือนจะสามารถผลิตต้นอ่อนผักบุ้งได้ 100 กิโลกรัม สนนราคากิโลกรัมละ 200 บาท โดยลูกค้าส่วนใหญ่จะนำไปประกอบอาหารหลากหลายเมนู อาทิ ส้มตำ ผัดน้ำมันหอย สุกี้ และ สลัดผัก

ทั้งนี้ ต้นอ่อนผักบุ้ง มีคุณค่าทางอาหารมากกว่าผักบุ้งต้นใหญ่มากถึง 5 – 10 เท่าตัว ซึ่งช่วยบำรุงสายตา ต้านอนุมูลอิสระ บำรุงสมอง มีไฟเบอร์มากช่วยในการขับถ่าย ลดน้ำตาล และ คอเรสเตอรอล บำรุงหัวใจ มีแคลอรี่ต่ำ เหมาะสำหรับคนควบคุมน้ำหนัก

Cr. ขอบคุณข้อมูลจาก : คุณ ดิเรก ขำคง , เส้นทางเศรษฐี , ntbday


แชร์ - ส่งบทความให้เพื่อน
อ่าน :  ปลูกกล้วยเพื่อขายใบ สร้างรายได้วันละ 600-700 บาท

เรื่องที่เกี่ยวข้อง