‘คะน้า เด็ดยอด’ ปลูกครั้งเดียวเก็บได้ 4 ปี

แชร์ - ส่งบทความให้เพื่อน

‘คะน้า เด็ดยอด’ ปลูกครั้งเดียวเก็บได้ 4 ปี

การปลูกคะน้าเกษตรกรส่วนใหญ่ มักจะใช้เมล็ดพันธุ์ปลูกแล้วเก็บขายไปทั้งต้น เมื่อหมดรุ่นแล้วลงแปลงปลูกใหม่ไปเรื่อยๆ…แต่วันนี้ มีคะน้าแบบใหม่ “คะน้าเด็ดยอด” ที่สามารถเก็บยอดมาขาย หรือนำมาประกอบอาหารได้หลายครั้ง นานหลายปี


“คะน้าเด็ดยอด มีชื่อภาษาอังกฤษว่า petit kale หรือปูเล่ เป็นที่รู้จักในบ้านเรามานานร่วมสิบปี หลังกรมส่งเสริมการเกษตรได้นำเข้าต้นพันธุ์จากจีนมาทำการทดลองปลูกและขยายพันธุ์เพื่อจะส่งเสริมให้เกษตรกรปลูก แต่ปรากฏว่า เกิดการกลายพันธุ์ให้ยอดแค่ครั้งเดียวและตายเหมือนคะน้าทั่วไป เพราะสภาพแวดล้อมบ้านเราไม่เอื้อให้ปลูกได้ เลยต้องหาวิธีการใหม่”

รศ.ดร.วรรณา สนั่นพานิชกุล ผู้จัดการศูนย์ขยายพันธุ์พืชสยาม อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ เผยถึงที่มาของคะน้าเด็ดยอดแบบใหม่…ด้วยการนำปูเล่ มาทำการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ

นอกจากจะได้ต้นที่มีลักษณะแตกต่างจากต้นเดิมสามารถเด็ดยอดได้หลายครั้ง เด็ดได้ทุกเดือน ต้นมีอายุยืน 1-4 ปี ขึ้นอยู่กับการดูแลรักษาให้น้ำให้ปุ๋ย

ต่างจากต้นคะน้าเด็ดยอดดั้งเดิม ที่เด็ดได้ครั้งแรก หนเดียว แล้ว ต้องปลูกใหม่

“ต้นที่ได้จากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ หลังจากปลูก 30-40 วัน สามารถเด็ดยอดได้ครั้งแรก จากนั้นจะมียอดใหม่แตกออกมา 2-3 ยอด ต่อการเด็ด 1 ยอด และเมื่อยอดชุดใหม่อายุ 25-30 วัน สามารถเด็ดยอดได้อีก 2-3 ยอด แต่ละยอดจะแตกออกมาเช่นนี้ไปเรื่อยๆ”

ส่วนวิธีการปลูก รศ.ดร.วรรณา บอกว่า หากต้องการปลูกในเชิงพาณิชย์เพื่อค้าขาย การจะทำให้ต้นที่ปลูกมีความสม่ำเสมอ แข็งแรง และปลอดโรค ควรปลูกในที่มีแสงแดดส่องถึง นํ้าไม่ท่วมขัง สภาพดินร่วน เหมาะกับการปลูกในโรงเรือนมีหลังคาคลุม ด้านหัวและท้ายโรงเรือนเปิดโล่ง ช่วยระบายอากาศ

หากจะปลูกตาม บ้านเรือนทั่วไป ควรเลือกตามแนวชายคาบ้าน หรือใส่กระถางตั้งวางปลูกก็ทำได้ แต่การปลูกลงแปลงดินจะเจริญเติบโตได้ดีกว่า

แต่ต้องระวังอย่าให้มีความชื้นมากเกินไป จะทำให้ต้นเน่าตายได้ สามารถแก้ปัญหาได้ด้วยการลดปริมาณการให้นํ้าในแต่ละวันลงไปจนกว่าพื้นที่ปลูกจะแห้ง

ศัตรูพืชของคะน้าเด็ดยอด
แมลงศัตรูพืชที่สําคัญ ได้แก่ หนอนผีเสื้อ หากเจอน้อยให้เก็บตัวหนอนทำลายทิ้ง หากพบการระบาดมากให้ใช้สารจุลินทรีย์ บาซิลลัสทูริงเยนซีส ฉีดพ่น สามารถกําจัดหนอนได้ดีมาก แมลงอีกชนิดที่พบบ่อยคือ เพลี้ยอ่อน สามารถกําจัดโดยฉีดพ่นน้ำแรงๆ หรือใช้ใบยาสูบตากแห้ง (ที่มวนบุหรี่) แช่นํ้าแล้วฉีดพ่นเป็นละอองฝอยๆ

โรคพืชที่พบบ่อยคือ อาการโรคเน่า เมื่อเจอความชื้นมากเกินไป วิธีแก้ไขคือ ตกแต่งใบแก่ ใบแห้ง ให้แปลงปลูกโปร่ง ไม่แน่นทึบ อากาศถ่ายเทได้สะดวก ลดปริมาณนํ้าในแต่ละวันลง เพื่อให้ความชื้นในแปลงปลูกลดลง

การให้ปุ๋ย
การดูแลรักษาหลังเด็ดยอดให้ใส่ปุ๋ยมูลสัตว์เดือนละครั้ง หรืออาจจะเสริมด้วยปุ๋ยเคมีเสริมธาตุอาหารสูตร 15-15-15 ระยะ 20 วันต่อครั้ง ในอัตรา 1 ช้อนชา ผสมนํ้า 10 ลิตร รดให้ทั่วทั้งต้นและใบ

การให้น้ำ
ฤดูฝน มีความชื้นสูง ผักอาจเหี่ยวและเน่าเสียหาย ไม่ต้องรดนํ้าทุกวัน ช่วงฤดูร้อน หากให้นํ้าน้อยไป ยอดคะน้าจะเหนียว จึงต้องหมั่นสังเกตการเติบโตของพืช และให้น้ำตามความเหมาะสมในแต่ละช่วงเวลา

แนวคิดการปลูกแบบธุรกิจ

ในอดีต ผักชนิดนี้ปลูกในพื้นที่อําเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย เป็นการปลูกภายใต้โรงเรือนหลังคาพลาสติก ตัวโรงเรือนทําจากไม้ไผ่ ไม่ใช้สารเคมีป้องกันและกําจัดศัตรูพืช ใช้แต่พวกเชื้อบาซิลลัสและกากยาสูบควบคุมแมลง พบว่า สามารถผลิตผักชนิดนี้ได้เดือนละหลายร้อยกิโลกรัม ผลผลิตส่งไปจําหน่ายที่ห้างสรรพสินค้าในกรุงเทพฯ

หากใครคิดจะปลูกผักชนิดนี้เชิงการค้า ขอฝากคำแนะนำสัก 2 ประการ
1. ผักชนิดนี้ไม่ชอบชื้นแฉะ ควรปลูกในโรงเรือนปลูกพืช หากปลูกกลางแจ้งในช่วงฤดูฝน ต้องมีหลังคาป้องกันฝน

2. ผักชนิดนี้ไม่จําเป็นต้องใช้สารเคมีป้องกันและกําจัดศัตรูพืชในการดูแลรักษา เหมาะปลูกแบบเกษตรอินทรีย์ ซึ่งดีต่อสุขภาพของผู้ปลูกและผู้บริโภคอีกด้วย

ที่มา : เทคโนโลยีชาวบ้าน และ ไทยรัฐ


แชร์ - ส่งบทความให้เพื่อน
อ่าน :  แตนเบียน สายพันธุ์ Lariophagus distinguendus (Forster) แมลงศัตรูธรรมชาติ ของแมลงศัตรูพืช

เรื่องที่เกี่ยวข้อง