DIY ทำรถฉีดปุ๋ยน้ำ ฉีดฮอร์โมน ฉีดยา ในการเกษตร

แชร์ - ส่งบทความให้เพื่อน


DIY ทำรถฉีดปุ๋ยน้ำ ฉีดฮอร์โมน ฉีดยา ในการเกษตร

รถฉีดปุ๋ยน้ำ ฉีดได้ระยะไกลและสูงขึ้น พาไปในสวนได้สะดวก อาจจะยุ่งยากเรื่องสายยางที่ยาว แต่ก็ไม่ต้องลากถังไปทุกที่

เมื่อเราทำเกษตร​อินทรีย์​ตามแนวทางเกษตรพึ่งตน​ สารอินทรีย์​ต่างๆที่นำมาใช้ในแปลง​ที่เกิดจากการใช้จุลินทรีย์​สร้าง น้ำหมักพืช​ น้ำหมักผลไม้​ น้ำหมักสมุนไพร​ อะมิโนโปรตีน​ น้ำหมักนม​ จุลินทรีย์​สังเคราะห์แสง​ ซึ่งปุ๋ยและฮอร์โมนเหล่านี้เราสามารถส่งไปในระบบน้ำที่วางระบบแบบท่อได้ทันที แต่หากเราจัดการน้ำในระบบร่องน้ำบนดินเป็นส่วนใหญ่ รวมถึงการใช้น้ำฝนเป็นหลัก ดังนั้นการฉีดปุ๋ยน้ำจึงจำเป็นใช้ถังฉีดพ่นในสวน

โดยปรกติถังฉีดปุ๋ยน้ำจะเป็นแบบสะพายหลังความจุอยู่ที่ 18-20 ลิตรใช้แรงมือโยก จะทุ่นแรงหน่อยก็ใช้เครื่องยนต์หรือแบบไฟฟ้าใช้แบตเตอรี่ แต่ก็ยังหนักขณะแบก ความจุน้อยและอาจไม่สะดวก หรือหากใช้ปั๊มแรงดันสูงก็ลงทุนสูงเกินไป แต่ก็จำเป็นต้องมีเครื่องฉีดปุ๋ยน้ำแรงสูง ถึงเวลาที่ต้องทำขึ้นใช้เอง…


วัสดุและอุปกรณ์

  • ปั๊มไดอะแฟรม ขนาดแรงดัน 8-12 บาร์ แบบใช้ไฟฟ้า 12 โวลต์ กระแสตรง (12 V DC) พร้อมสายยางและหัวฉีด (ความจริงคือปั๊มฉีดล้างรถนั่นเอง)
  • แบตเตอรรี่ 12 โวลต์ กระแสตรง ขนาด 7.5 AH (หนักประมาณ 0.8 กก.) พร้อมที่ชาร์ทไฟ
  • กล่องเครื่องมือ (ของเก่า) สายไฟ สวิทซ์ไฟ
  • เหล็กกล่อง 1 นิ้ว เหล็กแบน ท่อเหล็ก ส่วนมากเป็นเศษเหล็กที่เก็บรวบรวมไว้จากของเหลือใช้ต่างๆ
  • ล้อรถจักรยาน 12 นิ้ว(ล้อหน้า) 2 ล้อ พร้อมยาง (ยางใน+ยางนอก)
  • ถังน้ำพลาสติก ขนาด 40-60 ลิตร (ขึ้นอยู่กับกำลังของเรา)

เครื่องมือ

  • เครื่องเชื่อมไฟฟ้า ธูปเชื่อม
  • สว่านไฟฟ้า
  • เครื่องเจียร์ ใบตัดเหล็ก ใบเจีย
  • ชุดบัดกรี ตะกั่ว
  • เครื่องมือช่างอืนๆ ที่จำเป็น เช่น ค้อน คีม ไขควง ประแจ ฯลฯ

ลงมือทำ

1. ชุดเครื่องฉีด เป็นชุดสำหรับเป็นปั๊มฉีดน้ำ สามารถนำเคลื่อนที่ไปใช้งานที่ต่างๆ ได้
– นำกล่องเครื่องมือมาเจาะรูให้ได้ตรงตามตำแหน่งต่างๆ แล้วนำปั๊มไดอะแฟรม มายึดกับกล่องด้วยน็อต เจาะรูสำหรับทางน้ำเข้าและออกให้พอดีกับสายยาง เจาะรูติดสวิทซ์ปิดเปิด

– นำแบตเตอรี่ยึดติดกับกล่องในส่วนขอบด้วยแผ่นเหล็กยึดกระเบื้อง รองด้วยวัสดุกันกระแทก ติดปลั๊กตัวเมียสามขากระแสตรงให้ออกมานอกกล่อง

– เชื่อมสายไปจาก ปั๊มไดอะแฟรม ไปยังสวิทซ์ปิดเปิด เชื่อมด้วยตะกั่วบัดกรีไปยัง แบตเตอรี่ ต่อไปยัง ปลั๊กตัวเมีย สำหรับต่อที่ชาร์ทไฟ

2. ชุดรถเข็นถังฉีด
– นำถังน้ำพลาสติก มาวัดขนาดเพื่อทำโครงเหล็กรถเข็น ทำการตัดเหล็กตามขาดที่ต้องการ เชื่อมโครงเหล็กประกอบเป็นโครงรองรับถังน้ำ เชื่อมฐานล้อ และฐานรองรับกล่องชุดเครื่องฉีด เชื่อมต่อเหล็กแบนทำเป็นที่แขวนสายยาง ขัดผิวเหล็ก ทาสีกันสนิม ทาสีน้ำมันตามชอบ

– นำล้อรถจักรยาน ใส่ยาง สูบลม และประกอบกับโครงเหล็ก

– ใส่ถังน้ำพลาสติกเข้ากับโครง พร้อมใช้งาน



การนำไปใช้
1. ชุดเครื่องฉีด ชาร์ทแบตเตอรี่ให้เต็ม ประกอบสายยางทั้งชุด นำไปใส่ในแท่นรองรับบนรถเข็นถังฉีด

2. นำปุ๋ยและฮอร์โมน ผสมน้ำ ในอัตราส่วนที่ต้องการ เทใส่ถังฉีด ใส่ถังฉีดใส่ในรถเข็น นำสายน้ำเข้าจากชุดเครื่องฉีดใส่ในถังฉีด เปิดสวิทซ์พร้อมใช้งาน

3. ลงมือฉีด

ข้อดีของรถฉีดปุ๋ยน้ำ คือสามารถฉีดปุ๋ยน้ำได้เร็วขึ้น ได้ระยะไกลและสูงขึ้น พาไปในสวนได้สะดวก อาจจะยุ่งยากเรื่องสายยางที่ยาว แต่ก็ไม่ต้องลากถังไปทุกที่ ซึ่งแต่เดิมใช้ถังฉีดมือโยก ใช้เวลาฉีดปุ๋ยประมาณ 1 ชั่วโมงครึ่ง ต่อพื้นที่ 2 ไร่ (สวนสมรม ต้นไม้ประมาณ 200 ต้น) เมื่อใช้รถฉีดปุ๋ยน้ำ ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง ที่สำคัญเบาแรงขึ้นมาก

***ต้นทุนประมาณ 2,200 บาท (ไม่รวมค่าแรง เพราะใช้แรงเราเอง)

โดย พรเทพ คงเสถียร


แชร์ - ส่งบทความให้เพื่อน
อ่าน :  ไอเดียสร้าง กระท่อมหลังน้อย ไว้พักผ่อนในไร่ ในสวน

เรื่องที่เกี่ยวข้อง