แนวทางการเลี้ยงปลาดุกในบ่อดิน ขนาดไม่เกิน 1 ไร่ สำหรับมือใหม่หัดเลี้ยง
วันนี้เรามีแนวทางดีๆ มาฝากสมาชิกเพจเกษตร นานา ทุกท่านครับเกี่ยวกับการเลี้ยงปลาดุกในบ่อดิน “สำหรับมือใหม่” โดยเฉพาะ ส่วนขั้นตอนการเลี้ยงปลาดุกจะเป็นอย่างไรตามไปดูกันเลยครับ
ขั้นตอนการเตรียมบ่อ
1. สำหรับบ่อใหม่
ควรจะมีการปรับสภาพดินก่อน เนื่องจากพื้นที่ดินแต่ละบริเวณนั้นไม่เหมือนกัน บางที่นั้นอาจจะมีกรดในดินค่อนข้างสูง เราจึงจะทำการโรยปูนขาวเพื่อปรับสภาพดินให้เหมาะกับการเลี้ยงปลาดุก อัตราส่วนที่จะใช้คือ ปูนขาว 1 กิโลกรัมต่อพื้นที่ 10-25 ตารางเมตร โรยให้ทั่วบริเวณบ่อจากนั้นให้ตากไว้สัก 1 สัปดาห์แล้วค่อยปล่อยน้ำลงบ่อประมาณ 50 เซนติเมตร จากนั้นพักน้ำไว้ 5 วัน ค่อยนำปลาดุกที่เตียมไว้ลงในบ่อ
2. สำหรับบ่อเก่า
หากเลี้ยงปลาดุกได้ 3-4 รุ่นแล้ว ควรทำความสะอาดบ่อลอกเลนเนื่องจากบ่อเดิมนั้นอาจจะตื้นเกินไป เก็บกักน้ำไม่อยู่ ต่อมาให้สูบน้ำออกจากบ่อให้หมด ตากบ่อให้แห้ง ประมาณ 7-15 วัน โรยปูนขาว 1 กิโลกรัม/10 ตารางเมตร ทำคันบ่อใหม่ นำปุ๋ยคอกใส่ถุงแช่ไว้ตามมุมบ่อเพื่อเพิ่มอาหารธรรมชาติ จากนั้นเติมน้ำลงบ่อ ทิ้งไว้ 4-5 วัน จึงนำปลาลงบ่อ
วิธีการเลี้ยง
ก่อนจะนำลูกปลาลงบ่อนั้นแนะนำว่าให้ตักน้ำในบ่อมาผสมกับน้ำที่พักปลาไว้ก่อนให้ปลาได้ปรับตัวให้เข้ากับอุณหภูมิของน้ำเพื่อป้องกันการช็อคน้ำของปลา และควรทำร่มเงาให้กับปลาด้วย เพื่อลดการตายของปลาจากความร้อน การปล่อยปลาลงบ่ออัตราส่วนที่เหมาะสมคือ 60 ตัวต่อ 1 ตารางเมตร เพื่อง่ายต่อการดูแลและไม่เยอะจนเกินไป ทั้งนี้ปลาดุกชอบกระโดดออกจากบ่อเลี้ยง ให้ล้อมขอบบ่อด้วยตาข่ายไนล่อนสูงประมาณ 50 เซนติเมตร เพื่อป้องปลากระโดดออกจากบ่อครับ
การให้อาหาร
ปลาดุกเป็นปลาที่กินทั้งพืชและเนื้อ ควรจะให้อาหารทั้งสองประเภทเพื่อการเจริญโตได้สัดส่วนและมีคุณภาพ น้ำหนักดี ลำตัวแข็งแรง บริเวณที่ให้อาหารก็ควรจะเป็นบริเวณที่เดิมๆที่เคยให้ และควรให้เป็นเวลา เพื่อฝึกให้ปลารู้เวลาและปริมาณการกินอาหารในแต่ละวัน
1. อาหารประเภทเนื้อ ได้แก่ เนื้อปลา เนื้อสัตว์ต่างๆ เช่น ไส้เดือน หนอน หรือเนื้อสัตว์ตามความเหมาะสม
2. อาหารประเภทพืชผัก ได้แก่ ผักบุ้ง ผักตบชวา รำข้าว ปลายข้าว กากถั่ว กากมัน แป้ง ข้าวโพด และผักต่างๆ เพื่อเป็นการเพิ่มสารอาหารให้ปลา
การเลี้ยงปลาดุกในบ่อดินนั้น ถือเป็นการเลี้ยงแบบธรรมชาติ ข้อดีคือทั้งประหยัด ง่ายต่อการเริ่มต้นที่จะลงทุน สำหรับท่านไหนที่สนใจก็ลองเริ่มเลี้ยงดูกันได้นะครับ ไม่ยากอย่างที่คิด หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์ต่อผู้อ่านนะครับ