Site icon เกษตร นานา Kaset NaNa

การเลือกปลูกผักให้เหมาะสมกับฤดูกาล มีกินทั้งปี

แชร์ - ส่งบทความให้เพื่อน

การเลือกปลูกผักให้เหมาะสมกับฤดูกาล มีกินทั้งปี

ประเทศไทย เป็น ประเทศที่มีสภาพภูมิอากาศในแต่ละช่วงเวลาที่แตกต่าง อย่างเห็นได้ชัด ทั้งสามฤดู ได้แก่ ฤดูร้อน ฤดูฝน และ ฤดูหนาว และมีสภาพ ดิน ฟ้า อากาศที่เหมาะสมในการปลูกพืช ผัก ได้ตลอดทั้งปี โดยพืชบางชนิดเป็นพืชที่สามารถปลูกได้ตลอดทั้งปี และให้ผลผลิตอย่างสม่ำเสมอ

ประเทศไทยอยู่ในเขตร้อนชื้น สามารถปลูกผักตระกูลแตง มะเขือ และถั่วได้ตลอดปี และทุกภาคของประเทศ ส่วนผักตระกูลกะหล่ำ(ยกเว้น คะน้า และกวางตุ้ง ซึ่งสามารถปลูกได้ตลอดปี) การปลูกพันธุ์เบา หรือพันธุ์ทนร้อนในฤดูร้อน และฤดูฝน มีการห่อหัวและให้ผลผลิตสูง ส่วนในฤดูหนาวควรเลือกใช้พันธุ์หนัก หรือพันธุ์สำหรับฤดูหนาว ซึ่งโดยทั่วไปมักให้ผลผลิตสูงกว่าพันธุ์เบา เนื่องจากพันธุ์หนักมี อายุการเก็บเกี่ยวนานกว่า แผนการปลูกผักที่เหมาะสม ตลอดทั้งปี

การจำแนกพันธุ์ผักตามฤดูปลูกนั้น สามารถแยกได้เป็น 2 ประเภท คือ
– พันธุ์หนัก หรือพันธุ์ทนหนาว คือ พันธุ์ที่ปลูกได้ผลผลิตดีในฤดูหนาว อายุเก็บเกี่ยวนาน และผลผลิตสูง

– พันธุ์เบา หรือพันธุ์ทนร้อน ทนฝน คือ พันธุ์ที่ปลูกได้ผลผลิตดีในฤดูร้อน และฤดูฝน อายุเก็บเกี่ยวสั้น และผลผลิตต่ำกว่าพันธุ์หนัก

ช่วงฤดูร้อน ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์-เมษายน
ควรปลูกผักที่ทนร้อนได้ดี และทนความแห้งแล้งพอสมควร ถึงแม้ว่าผักเหล่านี้จะทนร้อนและความแห้งแล้งได้ แต่ถ้าจะปลูกในฤดูร้อนผักบางอย่างก็ต้องรดน้ำ เช้า-เย็น ต้องพรวนดิน แล้วคลุมด้วยฟางข้าวเพื่อรักษาความชุ่มชื้นไว้ให้พอ เช่น ข้าวโพดหวาน ข้าวโพดเทียน บวบ มะระ ถั่วฝักยาว ถั่วพุ่ม น้ำเต้า แฟง ฟักทอง ถั่วพู คะน้า ผักกาดเขียวกวางตุ้ง ผักกาดหอม ผักชี (ผักกาดหอม และผักชีนั้น ควรทำร่มรำไรให้ด้วย ) ผักกาดขาวเล็ก มะเขือมอญ ผักกาดเขียวใหญ่

ช่วงต้นฤดูฝน ระหว่างเดือนพฤษภาคม-กรกฎาคม
ปลูก หอมแบ่ง ผักกาดเขียวกวางตุ้ง ผักบุ้ง คะน้า พริกต่าง ๆ มะเขือต่าง ๆ ผักกาดหอม บวบ มะระ ฟักเขียว แฟง แตงกวา ข้าวโพดหวาน ถั่วฝักยาว ถั่วพุ่ม น้ำเต้า ถั่วพู ผักบุ้งจีน กระเจี๊ยบเขียว

ช่วงปลายฤดูฝน ระหว่างเดือนสิงหาคม-ตุลาคม
ปลูกจำพวกผักชีลาว ผักโขม กุยช่าย ผักกาดขาว กวางตุ้ง คะน้า หอมแบ่ง มันแกว มันเทศ มะเขือเปราะ มะเขือยาว ผักกาดหอม ผักบุ้งจีน พริกชี้ฟ้าและพริกขี้หนู

ช่วงฤดูหนาว ระหว่างเดือนพฤศจิกายน-มกราคม
ปลูก หอมแบ่ง กุยช่าย กระเทียมหัว ขึ้นฉ่าย กะหล่ำปลี ผักกาดขาวปลีห่อ กะหล่ำปม กะหล่ำดอก มะเขือเทศ และถั่วแระญี่ปุ่น

ผักที่สามารถปลูกได้ตลอดทั้งปี
ได้แก่ พืชที่ ทนทาน ปลูกครั้งเดียวรับประทานได้ตลอดปี เช่น สะระแหน่ ผักชีฝรั่ง หอมแบ่ง แมงลัก โหระพา กะเพรา ผักตำลึง ผักบุ้งไทย กระชาย ข่า ตะไคร้ บัวบก มะแว้ง มะเขือพวง พริกชี้ฟ้า พริกขี้หนู มะเขือต่าง ๆ

การปลูกผักสวนครัวต้องคำนึงถึงปัจจัยต่าง ๆ ดังนี้
1. การเลือกสถานที่หรือทำเลปลูก ควรเลือกพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ที่สุด อยู่ใกล้แหล่งน้ำและไม่ไกล จากที่พักอาศัยมากนักเพื่อ ความสะดวกในการปฏิบัติงานด้านการปลูก การดูแลรักษาและสะดวกในการเก็บมา ประกอบอาหารได้ทันทีตามความต้องการ

2. การเลือกประเภทผักสำหรับปลูก ชนิดของผักที่จะปลูกควรคำนึงถึงการใช้เนื้อที่ให้ได้ประโยชน์มากที่สุด โดยการปลูกผัก มากชนิด ที่สุดเพื่อจะได้มีผักไว้บริโภคหลายๆ อย่าง ควรเลือกชนิดของผักที่เหมาะสม กับสภาพแวดล้อมและปลูกให้ตรงกับฤดูกาล ทั้งนี้ควร พิจารณาเปอร์เซ็นต์ความงอก ของเมล็ดพันธุ์ วันเสื่อมอายุ ปริมาณหรือน้ำหนัก โดยดูจากสลากข้างกระป๋องหรือ ซองที่บรรจุ เมล็ด พันธุ์ ซึ่งจะทำให้ทราบว่าเมล็ดพันธุ์นั้น ใหม่หรือเสื่อมความงอกแล้ว เวลา วันที่ผลิตถึงวันที่จะซื้อ ถ้ายิ่งนานคุณภาพเมล็ดพันธุ์จะลดลง

การรับประทานพืช ผัก ตามฤดูกาล
ในการเลือกรับประทานพืช ผักให้เหมาะสมกับฤดูกาล ช่วยประหยัดค่าใช้จ่าย ได้ีรับประทานผักสด ใหม่ และเป็นการรักษาสุขภาพ ที่มีผลมาจากการเปลี่ยนแปลงอากาศได้อีกด้วย โดย พืชผักที่มีผลผลิตมากในแต่ละฤดูกาล มีดังนี้

– ผัก ผลไม้ ที่มีผลผลิตมากในช่วงเดือน พฤศจิกายน ถึง เดือนกุมภาพันธ์ ได้แก่ ฝรั่ง ลูกตาม ส้มเกลี้ยง ส้มเขียวหวาน ลางสาด แตงโม แตงไทย พุทรา มะขาม มะระ สะเดา ขิง ถั่วลันเตา ใบสะระแหน่ มะเขือเทศ ผักโขม ใบตั้งโอ๋ ผักกาดเขียว ผักกาดขาวปลี ดอกกระหล่ำ มะนาว (เดือนมกราคม-กุมภาพันธ์)

– ผัก ผลไม้ ที่มีผลผลิตมากในช่วงเดือน มีนาคม ถึง เดือนพฤษภาคม ได้แก่ มะม่วง มังคุด พุทรา ฝรั่ง เงาะ ลูกตาล มะปราง ลางสาด กระท้อน ทับทิม ลำไย สับปะรด ขิง เห็ด สะตอ

– ผัก ผลไม้ ที่มีมากใน ช่วงเดือนมิถุนายน ถึงเดือนตุลาคม ได้แก่ มะม่วง(น้อยลง) มังคุด ชมพู่ มะปราง เงาะ ลูกตาล ละมุด ลำไย ทับทิม สละ กระท้อน สับปะรด ระกำ ลางสาด

– ผัก ผลไม้ ที่มีมากตลอดทั้งปี ได้แก่ มะละกอ กล้วย ส้มโอ ขนุน ลูกตาล มะพร้าว แตงกวา ฟักเขียว ผักบุ้ง ผักคะน้า ต้นหอม ผักกาดหอม ถั่วแขก กระถิน ใบกะเพรา ใบมะกรูด น้ำเต้า พริก มันเทศ ผักชี หัวฝักกาด คื่นฉ่าย ฟักทอง ดอกกุยช่าย หัวปลี ใบโหระพา ใบสะระแหน่ ตะไคร้ กระชาย ถั่วงอก มะเขือต่าง ๆ บวบ

การบริโภคผักเป็นอาหารตามฤดูกาลต่าง ๆ ทั้ง 3 ฤดู นั้นสามารถจำแนกได้ดังนี้
– ฤดูร้อน ควรบริโภคผักจำพวก แฟง แตง บวบ ตำลึง น้ำเต้า ผักบุ้ง ผักกะเฉด จะช่วยแก้ร้อนในได้

– ฤดูฝน ส่วนใหญ่มักจะเป็นไข้หวัด ผู้บริโภคจึงต้องการอาหารรสจัด รสแซบ เผ็ด เปรี้ยว เช่น ต้มยำ พล่า แกงส้ม แกงเลียง ยำต่าง ๆ และลาบ ซึ่งล้วนต้องใช้พืชผักที่เป็นสมุนไพรแก้หวัดได้

– ฤดูหนาว มักจะเป็นไข้หัวลม เนื่องจากอากาศมีการเปลี่ยนแปลง จึงควรรับประทานอาหารจำพวกแกงส้มดอกแค ดอกสันตะวา ลวกยอดแค แกงขี้เหล็ก สะเดาน้ำปลาหวาน งาคั่วหรืองาร้อนจะช่วยทำให้ร่างกายอบอุ่นได้


แชร์ - ส่งบทความให้เพื่อน
Exit mobile version