คู่มือ-วิธีปลูกผัก สำหรับคนเมือง

แชร์ - ส่งบทความให้เพื่อน

คู่มือ-วิธีปลูกผัก สำหรับคนเมือง

พืชผักเมืองไทย ปลูกง่าย โตเร็ว กินอร่อย แม้คนอยู่ตึก มีมุมน้อยนิดบนคอนโด ก็ปลูกผักหญ้ากินเองได้ เป็นแนวคิดที่ไม่ใหม่ เพราะมีผู้ริเริ่มและรณรงค์มานานแล้ว แต่ไฉนคนเมืองอยู่แต่ตึกไม่สนใจสีเขียวที่กินได้ในชีวิตจริง โครงการ สวนผักคนเมือง จึงกำเนิดขึ้นโดยผู้ปรารถนาดี อยากให้คนไทยรู้จักปลูกผักกินเอง ใส่ใจในธรรมชาติ กลับมามองของจริงที่จับต้องได้ นอกจากโครงการที่ว่านี้ยังมีมูลนิธิต่างๆ ได้แก่ เอ็นจีโอ สสส. และกลุ่มคนตัวน้อยที่ชวนคนเมืองมาปลูกผัก สร้างเป็นเครือข่ายวิถีเกษตรคนเมือง นอกจากนี้ คนที่อยู่ตึกแต่อยู่นอกเขตกรุงเทพฯ และในต่างจังหวัด สามารถเข้าร่วมกิจกรรม ฟังอบรมวิธีปลูกผักในเนื้อที่จำกัด จนถึงปลูกข้าวในล้อยางและบ่อซีเมนต์ เขาก็ทำกันมาเห็นผล เป็นเรื่องจริงน่าทึ่งว่า ไม่มีนาข้าวก็ปลูกข้าวกินเองได้

หาตำแหน่งวางกระถาง
ผักส่วนใหญ่ต้องการแดดตลอดทั้งวัน ถ้าไม่มีที่ตั้งซึ่งได้แดดเต็มวันก็หาตำแหน่งให้ได้แดดมากที่สุด อย่างน้อยก็ครึ่งวัน หรือถ้าขยันและมีเวลาก็คอยขยับกระถางตามแดดแทน ถ้าวางบนดาดฟ้า บางวันแดดอาจร้อนเกินไปจนผักขาดน้ำ ต้องช่วยขึงตาข่ายพรางแสงให้ผักบ้าง

เตรียมกระถาง
เลือกขนาดกระถางใหญ่พอกับการเติบโตของพืช เช่น ผักกินใบ กระถางควรมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 4 นิ้วขึ้นไป ผักกินผลขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 10 นิ้วขึ้นไป หากเป็นภาชนะรูปทรงอื่นๆ ควรมีความลึกของก้นภาชนะตั้งแต่ 30-50 เซนติเมตรจึงจะสามารถปลูกผักได้ทุกชนิด หรือใช้อิฐบล็อกกั้นเป็นคอก หรือใช้กะละมังเก่าก้นแตก ลังไม้ กล่องโฟม มาดัดแปลงก็ได้

เตรียมดิน
ใช้ดินถุงที่ซื้อจากร้านขายต้นไม้ก็สะดวก ถ้าจะเพิ่มส่วนผสมให้ดินดีปลูกผักงามขึ้น ใช้สูตรตามนี้เลย

– ดินร่วนหรือดินถุง 1 ส่วน
– ปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอกเก่า 1 ส่วน
– แกลบเผา หรือขุยมะพร้าว หรือเศษใบไม้แห้ง (กระถินณรงค์ ก้ามปู หูกระจง มะขาม หางนกยูง) 1 ส่วน ผสมคลุกเคล้าให้เป็นเนื้อเดียวกัน รดน้ำให้มีความชื้นพอปั้นเป็นก้อนได้ แต่ไม่แฉะจนน้ำไหลเยิ้ม บ่มดินไว้ในที่ร่มหรือในถุงสัก 1 สัปดาห์ รับรองว่าแจ๋วแน่นอน แต่ถ้าไม่มีเวลาจะไม่ทำก็ได้ ไม่ว่ากัน

เตรียมเมล็ดพันธุ์
ที่หาง่ายหน่อยคือเมล็ดพันธุ์ขายเป็นซอง มี 2 ประเภท ดูสัญลักษณ์ตัวย่อบนซองคือ OP (Open-Pollinated) เมล็ดพันธุ์ผสมเปิด ปลูกแล้วเก็บเมล็ดมาใช้ปลูกต่อได้ F1 (First Filial Generation) เมล็ดพันธุ์ลูกผสม ถ้าเก็บเมล็ดมาปลูกต่อจะได้ลักษณะแปรปรวน ไม่เหมือนที่ปลูกในรุ่นแรก ตอนซื้ออย่าลืมดูวันหมดอายุ และเปอร์เซ็นต์การงอกว่าควรสูงกว่า 70% ไม่ควรซื้อซองเมล็ดพันธุ์ที่ตากแดดตากฝน เพราะเมล็ดจะเสื่อมคุณภาพและเปอร์เซ็นต์การงอกลดลง ถ้าเปิดซองแล้วใช้ปลูกไม่หมด ต้องปิดซองให้สนิท และเก็บรักษาไว้ในตู้เย็น

การปลูกผัก
เคล็ดวิชาปลูกผัก 7 กลุ่ม

การดูแล
รดน้ำอย่างน้อยวันละ 2 เวลา เช้าและเย็น หรือก่อนออกจากบ้าน และหลังกลับบ้าน คอยดูการเจริญเติบโตของพืชและดูว่ามีโรค หรือแมลงมากัดกินหรือเปล่า จะได้แก้ไขได้ทัน เช่น จับหนอนออกเมื่อพบกำลังกัดกินผักของเรา หมั่นเด็ดใบที่เหี่ยวหรือแก่ออก ถอนวัชพืชออกบ้างถ้ามีมากเกินไป ควรใส่ปุ๋ยคอกเก่าหรือปุ๋ยหมักทุกสัปดาห์ พร้อมกับรดน้ำผสมกับน้ำหมักชีวภาพจากเศษอาหารและสารสมุนไพรไล่แมลงอย่างง่าย เช่น พริกแกงละลายน้ำ เพื่อบำรุงรักษาให้พืชผักเราเจริญเติบโตงอกงาม

การเก็บผัก
พอผักงามน่ากินจนอยากเก็บแล้ว อย่าเพิ่งใจร้อน (ระยะเวลาเก็บเกี่ยวขึ้นอยู่กับชนิดผัก) ทำตามนี้นะ

– เก็บผักตอนเช้า แดดไม่แรง จะทำให้ผัก กรอบ สวย น่ากินกว่าเก็บตอนบ่าย แถมยังเก็บไว้กินได้นานด้วย
– ใช้มีดตัดเฉพาะส่วนที่ต้องการมาใช้บริโภค ดีกว่าใช้มือเด็ด เพราะผักจะไม่ช้ำ
– สำหรับผักกินผลที่ไม่ได้เก็บถอนมาทั้งต้น ใส่ปุ๋ยหลังจากเก็บผักบ้างเพื่อไม่ให้ต้นโทรมไว

หาความรู้เพิ่มเติม
– การปลูกพืชหมุนเวียน การทำปุ๋ยหมัก การทำน้ำสกัดชีวภาพ
– การทำสารสกัดสมุนไพรไล่แมลง สรรพคุณของผัก
– การทำสวนครัวจะว่าง่ายก็ง่าย จะว่ายากก็ได้ แต่เมื่อลงมือปลูก และเฝ้าดูพืชผักที่เติบโตจากฝีมือเราเองก็ทำให้ชุ่มชื่นใจไม่เบา

++++++++++++

เคล็ดวิชาปลูกผัก ๗ กลุ่ม
1. ผักกะหล่ำ ผักคะน้า และผักสลัด
– เป็นผักที่เรากินใบ เช่น ผักคะน้า ผักกาดขาว ผักกวางตุ้ง ผักกาดเขียว กะหล่ำปลี กะหล่ำดอก ผักสลัดต่างๆ
– กดดินเป็นหลุมลึกครึ่งเซนติเมตร หยอดเมล็ดหลุมละ 5-7 เมล็ด แล้วกลบดินทับบางๆ คลุมด้วยฟางหนา 1 เซนติเมตร รดน้ำ
– พอต้นกล้างอก นับใบจริงได้ 2-3 ใบ ใช้กรรไกรตัดต้นอ่อนให้เหลือหลุมละ 3 ต้นเมื่อมีใบจริง 5 ใบตัดเหลือ 2 ต้น ใบจริง 5 ใบตัดเหลือ 1 ต้นที่แข็งแรงที่สุด (ต้นอ่อนที่ตัดทิ้งนำมากินได้เลย กรอบอร่อย)
– ผักกลุ่มนี้ต้องการความชุ่มชื้น รดน้ำให้ชุ่มเสมอ อย่าให้แห้ง เฉพาะผักสลัดตั้งกระถางในร่มหรือแสงรำไร
– ระยะเก็บเกี่ยว : ผักคะน้า ผักกาดขาว ผักกวางตุ้ง ผักสลัด 4 วัน ผักกาดเขียว 60 วัน กะหล่ำต่างๆ 75-90 วัน
– ถ้าเป็นช่วงฤดูหนาว เก็บผักโดยเหลือใบไว้กับต้น 2 ใบ ต้นจะงอกใบใหม่ให้เก็บได้อีก 2-3 ครั้ง

ชีวิตในฝัน

2. ผักบุ้ง ผักชี
– เป็นผักที่เรากินใบ เช่น ผักบุ้งจีน ผักชี ขึ้นฉ่าย
– ผักบุ้งให้กดดินเป็นร่องตามยาวแล้วโรยเมล็ดเป็นแถวลงในร่อง กลบดินทับบางๆ คลุมด้วยฟางหนา 1 เซนติเมตร แล้วรดน้ำ
– ผักชีกับขึ้นฉ่ายให้ปลูกแบบเดียวกับผักกะหล่ำ
– ผักบุ้งจีนต้องการแดดทั้งวัน แต่ผักชีและขึ้นฉ่ายชอบให้มีร่มเงาบ้าง
– ผักกลุ่มนี้ต้องการความชุ่มชื้น รดน้ำให้ชุ่มเสมอ อย่าให้แห้ง
– ระยะเก็บเกี่ยว : ผักบุ้งจีน 30 วัน ผักชี 45-60 วัน ขึ้นฉ่าย 60-90 วัน

อ่าน :  เคล็ดไม่ลับจากเจ้าของสวน แก้พริกใบหงิกได้ง่ายๆ ด้วยงบ 52 บาท

3. แมงลัก โหระพา กะเพรา และผักชีฝรั่ง
– เป็นผักที่เรากินใบ เช่น แมงลัก โหระพา กะเพรา ผักชีฝรั่ง
– แมงลัก โหระพา กะเพรา ปลูกแบบเดียวกับผักกะหล่ำ หมั่นเด็ดดอกทิ้งเพื่อให้ต้นและใบเจริญเติบโตเต็มที่
– ผักชีฝรั่งนอกจากปลูกด้วยเมล็ดแบบผักกะหล่ำแล้ว ยังใช้ลำต้นที่มีรากติดปักชำได้ด้วย
– แมงลัก โหระพา กะเพรา รดน้ำวันละครั้งก็พอ ส่วนผักชีฝรั่งชอบความชุ่มชื้น อย่าให้แห้ง
– ระยะเก็บเกี่ยว : โหระพา กะเพรา แมงลัก 45 วัน ผักชีฝรั่ง 60 วัน

4. แตง และถั่วบางชนิด
– ผักกลุ่มนี้เป็นไม้เถาเลื้อยที่เราเก็บกินผล เช่น บวบหอม ฟักเขียว แตงกวา แตงร้าน แตงไทย ฟักทอง น้ำเต้า มะระ ถั่วฝักยาว ถั่วแขก ถั่วพู ตำลึง
– หยอดเมล็ดโดยวางหลุมละ 5 เมล็ด (ห่างกัน) แล้วกดหลุมลึกลงไปในดิน 2-4 เซนติเมตร คลุมฟางในหลุมหนา 2 เซนติเมตร กลบดินให้ปิดเมล็ด
– รดน้ำแล้วปักไม้ค้างสำหรับให้พืชเกาะไว้ ถ้าปักหลังจากต้นงอกแล้วอาจโดนรากพืชขาดเสียหาย
– พอต้นกล้างอกมีใบเลี้ยงและใบจริงนับได้ 6-7 ใบ ถอนเหลือแต่ต้นแข็งแรงไว้หลุมละ 3 ต้น ปล่อยโตทั้ง 3 ต้น ไม่ต้องถอนอีก
– ห้ามพรวนโคนต้น เพราะจะทำให้รากขาด ต้นผักจะอ่อนแอต่อโรคและแมลง
– ระยะเก็บเกี่ยว : 40-60 วัน

5. พริก มะเขือ
– เป็นผักที่เรากินผล เช่น พริกขี้หนู พริกชี้ฟ้า มะเขือเปราะ มะเขือยาว มะเขือพวง มะเขือเทศ
– กลุ่มนี้ต้องเพาะกล้าก่อน โดยใช้ภาชนะพลาสติกโปร่งๆ หรือถ้วยพลาสติกเจาะรูที่ก้นจนพรุน สูงไม่เกิน 10 เซนติเมตร ใส่ดินในภาชนะแล้วหว่านเมล็ดให้กระจายบนผิวดิน กลบดินทับบางๆ รดน้ำ ใส่ภาชนะในถุงพลาสติก มัดปากถุง แล้วตั้งทิ้งไว้ ไม่ต้องรดน้ำอีก
– เมื่อต้นกล้ามีใบเลี้ยง 2 ใบ แกะถุงออก รดน้ำวันละครั้งจนมีใบจริง 2 ใบ ให้ย้ายไปลงในถุงเพาะชำสีดำขนาด 2 นิ้ว (ซื้อได้ตามร้านขายต้นไม้ทั่วไป) จนต้นโตมีใบจริง 5-6 ใบ จึงย้ายต้นลงในกระถางจริง รดน้ำให้ชุ่ม
– ระยะเก็บเกี่ยว : มะเขือ 90 วัน พริก 120 วัน

บ้านสวนในฝัน

6. หอม กระเทียม
– เป็นผักที่เราเก็บหัวมาใช้ เช่น ต้นหอมหรือหอมแบ่ง หอมแดง กระเทียม
– ปลูกโดยใช้หัวที่เก็บไว้นาน 4 เดือนแล้วเอามาตัดรากแห้งออก แยกหัวออกเป็นหัวเดียว ฝังลงดินให้ปลายหัวเสมอผิวดิน เว้นระยะระหว่างต้น 5 เซนติเมตร คลุมฟางทับหนา 1 เซนติเมตร รดน้ำ
– เมื่อต้นงอกได้ 15 วันจึงค่อยใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก
– ต้นหอมต้องหมั่นกำจัดวัชพืช และรดน้ำให้ดินชุ่มชื้นอยู่เสมอ
– ระยะเก็บเกี่ยว : ต้นหอม 45 วัน หอมแดง 60 วัน กระเทียม 90 วัน

7. ขิง ข่า
– เป็นผักที่เราเก็บเหง้าใต้ดินมาใช้ เช่น ขิง ข่า กระชาย ขมิ้นขาว ขมิ้นชัน
– ใช้แง่งขิงหรือขมิ้นแก่มาตัดเป็นท่อนๆ ยาว 1 นิ้ว สำหรับข่าให้ใช้ส่วนที่ติดต้นเหนือดินไว้บางส่วน กระชายให้ตัดรากออก
– เอาปูนแดงทาตรงรอยแผลที่ตัด ทิ้งให้แผลแห้งแล้วจึงนำมาฝังดินลึก 10-15 เซนติเมตร คลุมฟางทับ รดน้ำ
– รดน้ำวันละ 1 ครั้ง
– ระยะเก็บเกี่ยว : ขิง 120 วัน ข่า ขมิ้น กระชาย มากกว่า 240 วัน แต่ถ้าต้องการขิงข่าอ่อนเก็บได้ใน 30 วัน
– เดือนพฤศจิกายน-เมษายน เป็นช่วงที่ขิงข่าพักตัวทิ้งต้นเหลือแต่เหง้าใต้ดิน เดือนพฤษภาคมจึงงอกต้นขึ้นใหม่

เกษตรในฝัน


แชร์ - ส่งบทความให้เพื่อน

เรื่องที่เกี่ยวข้อง