มีงานทำอยู่ ใช่ว่าจะรอดได้ในยุคนี้ หากไม่รู้ทัน 7 ข้อนี้ เดือดร้อนแน่

แชร์ - ส่งบทความให้เพื่อน

มีงานทำอยู่ ใช่ว่าจะรอดได้ในยุคนี้ หากไม่รู้ทัน 7 ข้อนี้ เดือดร้อนแน่

สำหรับน้องๆที่จบใหม่ ได้เปลี่ยนช่วงจากวัยเรียน ก้าวเข้าสู่สังคมการทำงาน จำเป็นจะต้องใช้เวลาในการปรับตัวและเรียนรู้อะไรหลายๆอย่าง หลายคนก็ใช้ชีวิตไปได้อย่างราบรื่น ตามที่วางแผนเอาไว้ แต่หลายคนก็ต้องก้าวไปอย่างยากลำบาก

สาเหตุหลักๆของชีวิตคนวัยทำงานก็คือ เรื่องการเงิน ที่มักจะมีปัญหากัน การไม่วางแผนทางการเงิน ใช้เงินไม่เป็น เงินเก็บก็ไม่มี และนี่คือสาเหตุ 7 ข้อ ที่ทำให้เกิดปัญหาตามมา

1. ไม่มีการวางแผนสำหรับอนาคต
น้องๆหลายคนที่เพิ่งเรียนจบ อายุเพิ่งจะ 20 ต้นๆ รู้สึกว่าการเกษียณนั้น เป็นเรื่องที่ไกลตัวมาก กว่าจะอายุถึงวัย 60 ก็ยังมีเวลาทำงานเก็บเงินอีกเยอะ ขอใช้ชีวิตแบบที่ต้องการก่อน และเวลาที่มีคนพูดถึงเรื่องการเตรียมตัวก่อนวัยเกษียณ ก็มักจะไม่สนใจและไม่ให้ความสำคัญกับมันเท่าที่ควร

แต่กลับไม่คิดว่า การรู้เร็ว เตรียมตัวก่อน เราก็จะมีเวลามากกว่าคนที่รู้ช้า หรือเพิ่งคิดได้ว่าต้องมีเงินเก็บสำหรับวัยเกษียณ และยิ่งถ้าเป็นพนักงานเอกชน ที่ไม่ใช่ข้าราชการ ไม่มีสวัสดิการหรือเงินบำหน็จ บำนาญมาช่วย แล้วชีวิตจะเป็นยังไงตอนแก่

2. ดูถูกการออมเงินทีละน้อย
คนส่วนใหญ่มักจะคิดว่า การออมเงินทีละน้อยๆ กว่าจะได้เงินเป็นก้อนก็เลยไม่อยากออม เวลาที่มีคนบอกหลักการว่า ควรออมอย่างน้อย 20% ของเงินเดือนนะ ก็ชอบบ่นว่า… “เยอะเกิน…ออมขนาดนั้น จะพอกินพอใช้ได้ไง ” พอมีคนแนะนำว่า ถ้าไม่มี ออมทีละน้อยๆก็ได้ เดือนละ 500 ก็ยังดี ก็จะพูดว่า…“น้อยขนาดนั้น เก็บทั้งปีก็ยังได้ไม่ถึงหมื่น “ ไว้ค่อยออมทีเดียวตอนโบนัสออกเลยดีกว่า

สุดท้ายจะมีเยอะหรือมีน้อย ก็ไม่มีเงินเก็บอยู่ดี เพราะมีนิสัยชอบผัดวันประกันพรุ่ง การออมที่ดี ไม่ได้ดูที่จำนวนเงิน ว่าเก็บได้มากหรือน้อย แต่มันเป็นการ “ฝึกนิสัยรักการออม” แล้วจะทำให้เรามีเงินเก็บไว้ไปต่อยอด สำหรับโอกาสในชีวิตได้

3. ขาช้อป เห็นป้าย Sale เป็นต้องใช้เงิน
เวลาที่เห็นป้าย Sale ก็ต้องใจอ่อนทุกที สินค้าลด 50% จากราคาปกติ 3000 บาท เหลือ 1,500 บาท และชอบคิดเข้าข้างตัวเองว่า ได้ลดตั้ง 1,500 บาท แต่ในความเป็นจริง คุณกำลังเสียเงินไป 1500 บาท เพื่อที่จะซื้อของลดราคา ทั้งๆทีบางทีแล้ว ถ้าคุณไม่เห็นป้าย Sale คุณอาจจะไม่อยากได้ ไม่อยากซื้อเลยก็ได้ เพราะคิดว่ามันแพงไป ยังไม่จำเป็นได้ใช้

หรืออีกประเภทที่ชอบซื้อของผ่อน 0% คิดว่าตัวเองผ่อนไหว มือถือเครื่องละ 30,000 บาท ผ่อนเดือนละ 3000 เอง พอไปเห็นของชิ้นอื่นผ่อน 0% อีก ก็อยากได้อีก สุดท้ายก็ทับถมใส่กัน จากที่คิดว่าไหว กลายเป็นไม่รอดซะแล้ว

4. ไม่มีระเบียบในการใช้เงิน
หลายคนชอบคิดว่า การทำบัญชีรายรับ-รายจ่าย ไม่สำคัญ แล้วก็ใช้เงินไปแบบไม่ระมัดระวัง พอถึงสิ้นเดือนก็มานั่งคิดว่า เงินหายไปไหนหมด ก็ไม่เห็นได้ใช้อะไรมากมายเลย หาต้นตอไม่เจอ ก็อุดรอยรั่วของกระเป๋าเงินไม่ได้

แต่ถ้าเราทำบัญชีรายรับ-รายจ่าย ทุกวัน จะทำให้เรามองเห็นภาพรวมของการใช้เงินของตัวเอง รู้ว่าเดือนนี้ใช้เงินไปกับอะไรบ้าง และส่วนไหนที่จะทำให้เราลดรายจ่ายได้บ้าง ก็จะช่วยให้เราจัดการกับการใช้เงินได้อย่างมีระเบียบมากขึ้น และเหลือพอที่จะมีเก็บได้ด้วย

5. ชอบสร้างหนี้ก้อนใหญ่ หนี้ระยะยาว
สมัยนี้คนจบใหม่ สามารถกู้เงินธนาคารได้ง่ายมาก ไม่ต้องมีเงื่อนไขอะไรมากมาย ทำให้น้องๆที่จบใหม่อยากจะมีทรัพย์สินเป็นของตัวเอง เพื่อสร้างความเชื่อมั่น ทำให้ตัวเองดูมั่นคง มีบ้าน มีคอนโด มีรถ แต่กลายเป็นว่า ต้องมีภาระก้อนใหญ่ เป็นหนี้สินระยะยาว

โดยเฉพาะบ้านที่มีดอกเบี้ยสูงและยังต้องผ่อนนานไม่ต่ำกว่า 20-30 ปี เรียกได้ว่าเกือบจะตลอดชีวิตของการทำงานเลยก็ว่าได้ ที่ต้องหาเงินแต่ละเดือนเพื่อมาผ่อนค่าบ้าน และสิ่งนี้แหละที่ทำให้สุขภาพทางการเงินของคนจบใหม่ พัฒนาไปช้ามาก ไม่เหลือเงินไว้เก็บหรือเอาไปลงทุนต่อยอดได้

6. ไม่มีความรู้ด้านการเงิน และไม่ขวยขวายที่จะหา
หากน้องๆคนไหนมีความคิดที่ว่า “แค่ขยันทำงานก็พอแล้ว…เดี๋ยวก็รวยเอง “ สุดท้ายต้องทำงานไปเกือบเวลาทั้งชีวิตจนร่างกายพัง แต่กลับยังอยู่ที่เดิม เพราะไม่รู้จักการลงทุน ไม่รู้จักวิธีให้เงินทำงาน สมัยนี้มันมีเครื่องมือที่ช่วยสร้างรายได้ให้เรามากมาย ดีกว่าการเสียเวลาใช้แรงเพื่อแลกกับเงินเดือน

มีคำกล่าวที่ว่า…“การเก็บเงินเป็นแค่บันไดขั้นแรก สู่ความร่ำรวย แต่ขั้นต่อมา คือ ต้องรู้จักลงทุน “ ใช้แต่แรงทำงาน แต่ไม่รู้จักใช้ความรู้ด้านการเงิน ก็รวยได้ยากนะ

7. ไม่สร้างเป้าหมายให้ชีวิต
คนไม่มีเป้าหมาย ก็เหมือนคนไม่มีเส้นชัย มองไม่เห็นทาง ไม่รู้ว่าควรจะไปทางไหน ถึงจะประสบความสำเร็จสักที และสุดท้ายก็ไม่มีอะไรที่จับต้องได้เป็นชิ้นเป็นอัน การตั้งเป้าหมาย ก็เหมือนกับการสร้างทางเดินให้ตัวเอง ให้ตัวเองเห็นเส้นชัยและรู้เส้นทางที่จะเดินไปได้อย่างถูกต้อง

ชีวิตในฝัน

เราอาจจะเริ่มจากการตั้งเป้าหมายเล็กๆ อย่างเช่น ปีนี้จะเก็บเงินให้ได้ 30,000 บาท เพื่อเป็นกำลังใจและสร้างความเชื่อมั่นให้ตัวเอง กล้าลงมือทำเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่ต่อไปในวันข้างหน้า

ขอขอบคุณข้อมูลจาก : fashionstyless


แชร์ - ส่งบทความให้เพื่อน
อ่าน :  เช็กที่นี่! ปุ๋ย 13 สูตรที่เข้าร่วมโครงการ “ปุ๋ยคนละครึ่ง” มีสูตรอะไรบ้าง

เรื่องที่เกี่ยวข้อง