การให้ ”อภัย” กับให้ ”โอกาส” นั้นเป็นคนละส่วนกัน ยกโทษทางจิตใจ แต่ไม่ยกโทษทางการกระทำ
ให้อภัยกับให้โอกาส
เป็นคนละส่วนกัน
การให้อภัย คือ การยกโทษทางจิตใจในสิ่งผิดที่เขาทำต่อเรา
การให้อภัยมีสองระดับครับ
ระดับแรกคือ
ให้อภัยเมื่อรู้สึกว่าเขารับผิดและแก้ไขอย่างดีแล้ว
เมื่อคนคนหนึ่งทำไม่ดีกับเรา
และเขาได้รับโทษของความผิดนั้น
และเขาพยายามชดใช้ต่อสิ่งนั้น
เขาขอโทษ
เขาแก้ไข
เขาชดใช้
เขาเสียใจ
ทำให้ความรู้สึกของความโกรธแค้นของเราบรรเทา
เรารู้สึกว่าเราให้อภัยเขาได้
เราจึงให้อภัย
ระดับที่สองคือ
ให้อภัยโดยไม่ขึ้นกับว่าคนที่ทำผิดนั้นจะเป็นอย่างไร
จะเสียใจ จะชดใช้ จะรับโทษหรือเปล่า
แต่เราก็ให้อภัยเขาได้
ทั้งสองอย่างนี้ล้วนต้องใช้เวลา
และการตัดสินใจด้วยกันทั้งนั้น
แต่อย่างที่สองยากกว่า
บางครั้งเราไม่ให้อภัยบางคน
เพราะคิดว่าเราทำไม่ได้
มันยากเกินไป มันหนักหนาเกินไป
หรือไม่เราก็รู้สึกว่า เราไม่อยากให้อภัย เราจะเก็บความโกรธแค้นนี้ไว้
เพราะเขาไม่สมควรได้รับการให้อภัย
แต่ในขณะเดียวกันนั้น
เรากลับไม่รู้ตัวว่าจิตใจที่โกรธแค้นนั้นมาพร้อมกับการกัดกินหัวใจ
และมันทำร้ายเราเสมอ ไม่เคยทำร้ายคนที่ทำผิดกับเราเลย
มันคือยาพิษที่เราดื่มเข้าไปทุกวัน
และตั้งจิตปณิธานว่าทุกครั้งที่เราดื่มยาพิษนั้น
จะทำให้คนที่เราโกรธแค้นนั้นตาย
ซึ่งมันไม่ใช่ การให้อภัย ไม่ได้ทำให้เขาพ้นผิดครับ
แต่ทำให้เราพ้นจากจิตใจที่เคียดแค้นและเจ็บปวดต่างหาก
มันแก้ไขอดีตไม่ได้ แต่มันปลดปล่อยเราจากที่คุมขังจองจำ
ไปสู่อนาคตที่สดใสกว่า
คนที่ทำได้คือคนที่ชนะไม่ใช่พ่ายแพ้
จริงๆ แล้วการให้อภัยกับการให้โอกาส
เป็นคนละส่วนกันครับ
เราให้อภัยแต่ไม่ให้โอกาสได้
เพราะการให้อภัยคือการยกโทษทางจิตใจ
ที่ปลดปล่อยตัวเราจากการถูกทำร้ายทางใจ
แต่การให้โอกาสต้องมาพร้อมกับการพิสูจน์ตัวเองของคนทำผิด
ถ้าคนทำผิดไม่ได้กลับใจ ไม่ได้เสียใจ
เราไม่จำเป็นต้องให้โอกาสเสมอไป
และบางครั้งเขายังต้องรับโทษจากความผิดนั้น
แต่ส่วนของเรานั้น
แค่เดินออกมา แล้วยกโทษให้เขา
ออกจากที่คุมขังแห่งความแค้นใจ
เอาชีวิตของเรากลับคืนมาใหม่เป็นของเรา
และเอาไปใช้ให้มีความสุขกับการเริ่มต้นใหม่ดีกว่า
การให้อภัย ทำให้เราได้ชีวิตของเรากลับมา
Cr. บอร์นเก้าสาม