Site icon เกษตร นานา Kaset NaNa

ธนาคารน้ำใต้ดิน แก้ปัญหา น้ำท่วม-ภัยแล้ง

แชร์ - ส่งบทความให้เพื่อน

ธนาคารน้ำใต้ดิน แก้ปัญหา น้ำท่วม-ภัยแล้ง

เวลาฝนตกหนักมีปริมาณน้ำฝนมาเยอะมักเจอปัญหาน้ำท่วม แต่ปริมาณน้ำที่มีมามากก็ไหลลงทะเลไป เพราะไม่มีแหล่งกักเก็บน้ำ พอถึงหน้าร้อนก็เจอกับปัญหาภัยแล้ง น้ำไม่พอใช้สำหรับการทำเกษตร

ธนาคารน้ำใต้ดิน เป็นไอเดียวิธีแก้ปัญหา น้ำท่วม และ ภัยแล้ง วัตถุประสงค์คือ ช่วยระบายน้ำออกเวลาหน้าฝนมีปริมาณน้ำมาเยอะ และ นำน้ำไปกักเก็บไว้ใต้ดินเป็นน้ำบาดาล พอถึงหน้าแล้งก็สูบน้ำจากใต้ดินขึ้นมาใช้

ก่อนจะขุดหลุมเพื่อทำธนาคารน้ำใต้ดิน ต้องเลือกทำเลที่เหมาะก่อน โดยให้เลือกบริเวณต่ำที่มีน้ำไหลผ่าน บริเวณที่เป็นทางผ่านของน้ำ เวลาน้ำมาจะได้ไหลลงบ่อได้สะดวก และ ระยะเวลาที่ลงมือทำควรเป็นช่วงฤดูแล้ง

วิธีทำ
เริ่มจากขุดบ่อขนาด 2✕2 เมตร ลึกประมาณ 1 เมตร ตรงกลางในบ่อขุดหลุมกว้างประมาณ 1×1 ม. ให้ลึกทะลุชั้นดินเหนียวลงไป

จากนั้นนำยางไปวางไว้ที่ก้นบ่อ เพื่อให้พื้นที่ฐานบ่อมีช่องว่างพอให้น้ำซึมลงไป และ ต่อท่อ PVC ลงไป เพื่อระบายอากาศออกมาเวลามีน้ำไหลเข้าไป ช่วยให้ดูดน้ำไหลลงสู่บ่อได้ไวขึ้น

ตามด้วยก้อนหินขนาดใหญ่เป็นชั้นที่สอง

หลังจากใส่ก้อนหินแล้วให้ใส่ขวดน้ำตามลงไป

แล้วปิดด้วยก้อนหินอีกทีที่ชั้นบน ( สาเหตุที่ปิดหลายชั้น เพราะ ชั้นหิน และ ชั้นขวดน้ำ ทำหน้าที่เป็นเหมือนเครื่องกรองน้ำ ให้กรองเอาแต่น้ำไหลลงสู่บ่อ ไม่ให้พวกเศษทราย เศษดิน ไหลลงไปปิดทางไหลของน้ำ )

ส่วนด้านบนปากบ่อใช้ตะแกรงผ้า และ ก้อนหินขนาดเล็ก ปิดทับอีกที คอยเป็นตัวกรองเศษดินเศษหินที่จะไหลลงสู่บ่อเบื้องล่าง

ผลปรากฏว่าเมื่อฝนตกหนักน้ำบนผิวดินจะไหลงไปในบ่ออย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดประโยชน์ในด้านการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขังได้เป็นอย่างดี

จากการตรวจติดตามและประเมินพบว่า น้ำที่เคยท่วมขังในช่วงฝนตกจะไหลลงสู่ใต้ดินภายใน 10 นาที ผิดจากเมื่อก่อนกว่าน้ำจะหมดไปต้องใช้เวลาเป็นวัน หากทำเพิ่มมากขึ้น ช่วงฤดูแล้งพื้นที่ต่างๆจะสามารถนำน้ำกลับขึ้นมาใช้ทำการเกษตรได้ ส่วนหน้าฝนชุกน้ำจะไม่เอ่อท่วม

ปีนึงก็เห็นผล จะมีน้ำใต้ดินในพื้นที่รอบบ่อ รัศมี 1 ตารางกิโลเมตร เลือกเจาะบ่อบาดาลโดยดูจากทิศทางการไหลของน้ำใต้ดินตามแรงเหวี่ยงของโลก (เหนือไปใต้ ตะวันตกไปตะวันออก) ห่างจากบ่อที่ดึงน้ำลงประมาณ 10-20 ม. เมื่อเจาะลงไปจะพบแหล่งน้ำบาดาลเพียงพอสำหรับความต้องการใช้น้ำในหน้าแล้ง

*** หมายเหตุ : ธนาคารน้ำเป็นเรื่องที่ซับซ้อน ควรศึกษาเพิ่มเติมให้ลึก

กด ศึกษาเรื่อง “ธนาคารน้ำ” เพิ่มเติม


แชร์ - ส่งบทความให้เพื่อน
Exit mobile version