Site icon เกษตร นานา Kaset NaNa

ขั้นตอนวิธีการทำระบบพ่นหมอกเอง ในงบ 1,500 บาท

แชร์ - ส่งบทความให้เพื่อน

ขั้นตอนวิธีการทำระบบพ่นหมอกเอง ในงบ 1,500 บาท

ระบบพ่นหมอก หรือ หัวพ่นหมอก นอกจากจะใช้ในการเกษตรแล้ว ยังสามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้กับสวนในบ้าน เช่น สวนเฟิน และสวนกล้วยไม้ หรือจะประยุกต์ใช้ในการช่วยลดความร้อนให้กับที่พักอาศัย โดยสามารถติดตั้งได้หลากหลายพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นริมระเบียง กำแพง หรือแขวนบนกันสาด

วันนี้ บ้านและสวน จะพาไปรู้จักกับ ระบบพ่นหมอก แรงดันต่ำที่ทำเองได้ง่าย ๆ โดยไม่ต้องมีปั๊มน้ำที่ใช้ระบบไฟฟ้าเพิ่มเติมแต่อย่างใด(ถ้าไม่จำเป็น) แต่ก่อนจะไปดูวิธีการประกอบระบบพ่นหมอกแรงดันต่ำ เราลองไปดูประเภทของระบบพ่นหมอกกันก่อนดีกว่า ซึ้งระบบพ่นหมอก แบ่งได้เป็น 3 ประเภท ตามแรงดัน และประเภทของปั๊ม

1. ระบบพ่นหมอกแรงดันต่ำ
เป็นระบบพ่นหมอกที่สามารถต่อตรงเข้ากับระบบประปาของบ้าน(ที่มีปั๊มอยู่แล้ว)ได้ทันที มีแรงดันอยู่ที่ระหว่าง 4-20 บาร์ สามารถขับหัวพ่นหมอกเบอร์ 1 2 และ 3 ได้ สำหรับจำนวนหัวที่สามารถต่อได้โดยไม่ต้องใช้ปั๊มเสริมคือประมาณ 5 หัว (ขึ้นอยู่กับความยาวของสาย และระยะห่างของแต่ละหัว) แต่หากระบบประปาที่บ้านไม่มีปั๊มน้ำ อาจเลือกใช้ปั๊มขนาดเล็กอย่างปั๊ม DC 12 โวล์ต โซลินอยด์วาวล์ แล้วต่อสายยางเพื่อเพิ่มแรงดัน ก็ถือเป็นตัวเลือกที่ง่ายเเละประหยัด ทั้งนี้นอกจากจะหาซื้อชุดพ่นหมอกแรงดันต่ำได้จากร้านจำหน่ายอุปกรณ์จัดสวนทั่วไปเเล้ว ยังสามารถซื้อจากเว็บช้อปปิ้งออนไลน์ต่าง ๆ ได้ด้วย

2. ระบบพ่นหมอกแรงดันสูง
เป็นระบบพ่นหมอกที่ใช้ปั๊มขนาดกลางมีแรงดันอยู่ที่ประมาณ 20-70 บาร์ สามารถพ่นหมอกได้ละเอียดกว่า และต่อเข้ากับหัวพ่นได้จำนวนเยอะกว่า นิยมใช้กับโรงเรือนทางการเกษตรเพราะให้ละอองน้ำที่มีฝอยละเอียดกว่า โดยทั่วไปสามารถต่อได้ประมาณ 20 หัวพ่น แต่อาจต้องใช้ความชำนาญในการเดินระบบเพื่อไม่ให้เกิดการรั่วซึม และยังมีราคาที่สูงกว่าปั๊มแรงดันต่ำค่อนข้างมาก

3. ระบบพ่นหมอกแรงดันปั๊ม 3 สูบ
เป็นระบบพ่นหมอกที่ใช้กับปั๊ม 3 สูบ ในการเกษตร มีแรงดันอยู่ที่ประมาณ 20-50 บาร์ เช่นเดียวกับระบบพ่นหมอกแรงดันสูง แต่ให้ Flowrate หรือ อัตราการไหลของน้ำ ที่มากกว่า จึงสามารถรองรับหัวพ่นหมอกได้เป็นร้อยหัวเลยทีเดียว โดยขึ้นอยู่กับเบอร์ของหัวพ่น และขนาดของปั๊ม แต่มีขั้นตอนการติดตั้งค่อนข้างยาก และมีราคาสูง จึงมักจำกัดการใช้งานอยู่เพียงแต่ในอุตสาหกรรมการเกษตรขนาดใหญ่

ซึ่งเราจะขอพูดถึง ระบบพ่นหมอกแรงดันต่ำ ที่คุณสามารถติดตั้งเองได้ง่าย ๆ มีราคาย่อมเยา เเละสามารถประยุกต์ใช้ได้หลากหลายพื้นที่ ก่อนอื่นต้องเตรียมอุปกรณ์ที่จำเป็นให้พร้อมเสียก่อน โดยมีอุปกรณ์ที่ต้องใช้ ดังนี้

อุปกรณ์ที่ต้องเตรียม
– ระบบพ่นหมอก หัวพ่นหมอก
– ท่อ PVC ขนาด 6 หุน
– ข้อต่อสามทาง
– บอลวาวล์
– ข้อต่อท่อต่าง ๆ โดยอ้างอิงจากพื้นที่ซึ่งต้องการทำการติดตั้ง
– เทปและกาวสำหรับพันท่อ
– ใบเลื่อยสำหรับตัดท่อ
– ท่อ PE 20 มิลลิเมตร และ 16 มิลลิเมตร อ้างอิงจากพื้นที่ซึ่งต้องการทำการติดตั้ง
– ท่ออ่อนไมโคร 7 มิลลิเมตร
– ตัวเจาะท่อ PE
– หัวพ่นหมอก เบอร์ 1, 2 และ 3 ตามที่ต้องการ

ขั้นตอนการประกอบระบบพ่นหมอกแรงดันต่ำ
1. เลือกต่อท่อสามทางออกจากระบบประปาเสียก่อน หากที่บ้านมีปั๊มน้ำอยู่แล้วก็สามารถต่อได้เลย แต่บางบ้านที่ไม่ได้ติดตั้งปั๊มน้ำ อาจต้องต่อท่อเข้าปั๊ม DC ก่อน เพื่อเพิ่มแรงดันน้ำ

2. ติดตั้งบอลวาล์วก่อน เเล้วจึงใส่ข้อต่อเพื่อปรับเป็นท่อ PE ต่อไป

3. ต่อท่อ PE 20 มิลลิเมตร โดยใช้ข้อต่อตรงเกลียวนอก และติดตั้งตัวรัดเกลียวเพื่อความแน่นหนา

4. เดินท่อไปยังจุดที่ต้องการจะพ่นหมอก จากนั้นจึงใส่สามทางแยกซ้าย-ขวา และลดขนาดท่อเป็น 16 มิลลิเมตร เพื่อคงแรงดันน้ำ

5. เดินท่อไปยังจุดที่ต้องการ แต่ควรคำนึงไว้เสมอว่า ยิ่งไกลแรงดันน้ำยิ่งอ่อนลง เเละเมื่อเดินท่อไปจนสุดตำเเหน่งที่ต้องการเเล้ว ให้คุณพับปลายท่อก่อนเเล้วจึงค่อยติดตั้งตัวปิดปลาย

6. เจาะท่อให้เป็นรูสำหรับใส่สายไมโคร โดยเว้นระยะห่างให้เท่า ๆ กัน 2-3 จุด

7. นำสายไมโคร และข้อต่อ ติดตั้งตามรูที่เจาะไว้

8. ติดตั้งหัวพ่นบริเวณปลายสายไมโคร แล้วเปิดน้ำทดสอบดูว่าการพ่นของน้ำใช้ได้ดีหรือไม่ เท่านี้ก็เป็นอันเรียบร้อย!

หัวพ่นหมอก 8 หัว พร้อมสายไมโคร ราคาประมาณ 500-1,000 บาท ปั๊ม DC 12 V ราคาประมาณ 1,500-2,000 บาท ท่อ PVC 6 หุน ข้อต่อ และบอลวาวล์ ประมาณ 500 บาท รวมราคาทั้งสิ้น (แบบไม่รวมปั๊ม และอุปกรณ์ตั้งเวลาอื่น ๆ) ประมาณ 1,000-1,500 บาท

ที่มา : วุฒิกร สุทธิอาภา

*** ถ้าโพสนี้มีประโยชร์ โปรแชร์ต่อ ไปยังกลุ่มเกษตรต่างๆ เพื่อเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะแก่ผู้พบเห็น


แชร์ - ส่งบทความให้เพื่อน
Exit mobile version